หลังจากที่ “ช้างศึก”ทีมชาติไทย แพ้เวียดนามด้วยสกอร์รวมสองนัด 3-5 พลาดการคว้าแชมป์อาเซียน คัพ 2024 เป็นสมัยที่ 8 ซึ่งนักเตะชุดนี้ มาซาทาดะ อิชิอิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนได้รับความอนุเคราะห์จากสโมสรไทยลีกที่ปล่อยมาร่วมทัพ โดยเกือบทั้งหมดไม่ใช่ผู้เล่นชุดใหญ่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “โค้ชเฮง”วิทยา เลาหกุล อดีตประธานเทคนิคสมาคมฟุตบอลไทย ซึ่งเป็นปัจจุบันเป็นฝ่ายเทคนิคของชลบุรี เอฟซี และรับตำแหน่งผู้ประเมินการพัฒนาฟุตบอลระดับเยาวชนของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) มองว่าต่อให้ครั้งนี้ไทยได้ผู้เล่นตัวหลัก และสามารถป้องกันแชมป์ได้ แต่ครั้งหน้า หรือครั้งต่อไป เมื่อผู้เล่นตัวหลักต้องปลดระวาง ทีมชาติไทยจะวนกลับมาที่เดิม นั่นคือการพ่ายแพ้ เนื่องจากขาดการพัฒนาที่ถูกต้องมาตั้งแต่ยังเป็นระดับเยาวชน
“สิ่งที่ผมจะพูดแน่นอนว่าผมจะต้องโดนด่า แต่ผมต้องว่ามันคือความจริง ผมเดินทางไปทุกประเทศเพื่อประเมินอคาเดมีในเอเชีย ทุกชาติที่พัฒนาแล้วในวงการฟุตบอลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาซุดีอาระเบีย กาตาร์ ฯลฯ”
“ส่วนในอาเซียนเวียดนามมีระบบอคาเดมีที่ได้มาตรฐานระดับโลกคือ 3 ดาว เทียบเท่ากับสโมสรดอร์ตมุนด์ ในเยอรมัน กาตาร์ และญี่ปุ่น ส่วนอีกแห่งในอาเซียนที่ได้ 3 ดาวคืออคาเดมีของ ยะโฮร์ บาห์รู ของสโมสรยะโฮร์ ดารุล ทักซิม ขณะที่อคาเดมีของไลออนส์ ซิตี้ เซเลอร์ส ได้ 2 ดาว และกำลังจะพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐาน 3 ดาว”
“ขณะที่ประเทศไทยมีเพียงอคาเดมีของชลบุรี เอฟซี เท่านั้นที่ได้มาตรฐาน 1 ดาว นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นอคาเดมีของสโมสร (คลับ อคาเดมี) อคาเดมีเอกชน (ไพรเวต อคาเดมี) ไม่มีที่ไหนเลยที่ได้รับมาตรฐานการประเมินจากเอเอฟซี ซึ่งผมเป็นคนประเมินด้วยตัวเอง”
“สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการทำ การสร้างเด็กเยาวชนต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ที่สำคัญต้องยึดหลักสูตร หรือรูปแบบการสร้างอคาเดมีตามแบบฉบับเดียวกับเอเอฟซี และฟีฟ่า (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) โดยมีหลักใหญ่ 3 ประการคือ ทำให้นักเตะเข้าใจเกม สองหลักการประเมิน วางแผนการ และอย่างสุดท้ายการฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยม”
“แต่อคาเดมีในไทยไม่ทั้ง 3 หลัก บางแห่งมาถึงสนามก็ลงซ้อมเลย ไม่วางแผนการซ้อม ไม่วางเป้าหมายการซ้อม ไม่มีการประเมินหลักซ้อม หรือหลังแข่ง ซ้อมเสร็จกลับบ้าน แข่งเสร็จกลับบ้าน เด็กที่ฝึกกลับมาจึงไม่แนวทางการฝึกที่ชัดเจนว่าฝึกแล้วได้อะไร บางคนทักษะส่วนดี แต่มองเกมไม่ออก บางคนร่างกายแข็งแรงวิ่งเร็ว แต่คิดอะไรไม่เป็น เพราะไม่ได้เรียนรู้ในหลักสูตรที่ถูกต้อง”
“เมื่อการสร้างเด็กไม่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เด็กที่เติบโตขึ้นมาจึงขาดการเข้าใจเกม เมื่อมีโอกาสเล่นทีมชาติความเข้าใจเกม เข้าใจแท็กติกที่โค้ชต้องการจึงน้อยตามไปด้วย”
“ผมกล้าพูดได้เลยว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เด็กรุ่นใหม่ของไทยจะสู้เด็กรุ่นใหม่ของเวียดนาม เด็กรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ รวมถึงมาเลเซีย ไม่ได้ ถึงจะชนะได้ในบางครั้ง แต่ไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะรายการอาเซียนคัพ สมัยหน้า หรือฟุตบอลรายการอื่นๆ ที่เด็กๆ พวกนี้จะได้เจอกันโอกาสที่ไทยจะประสบความสำเร็จมีน้อยมาก หากอคาเดมีไทยยังล้าหลังอยู่เหมือนทุกวันนี้”
“ที่ร้ายหนักกว่าเรื่องการพัฒนาฟุตบอลหญิง เพราะไม่มีอคาเดมีของฟุตบอลหญิงเลยในไทย ขณะที่การแข่งขันที่มีมาตรฐานยิ่งไม่ต้องพูดถึง เวทีของเด็กผู้หญิงรุ่น 14 16 18 ไม่มีรายการให้เล่น เมื่อไม่มีเวทีย่อมไม่มีขุมกำลัง ทางออกที่สมาคมเลือกทำในตอนนี้การเชิญพวกบรรดาลูกครึ่งมาติดทีมชาติเพื่อลงเล่นทีละรายการไป คงหาความสำเร็จแบบยั่งยืนลำบาก”
“ตรงกันข้ามหากระบบการฝึกเด็กของอคาเดมีในไทยมีรูปแบบชัดเจน มีแนวทางไปในหลักสูตรที่ถูกต้อง ต่อให้ไม่มีผู้เล่นตัวหลัก แต่ผู้เล่นที่รองลงไปจะเข้าใจเกมอย่างดีว่าต้องทำอย่างไรเมื่อลงสนาม บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาพวกลูกครึ่งมาช่วยทีมเลยด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากหากจะเริ่มพัฒนาอคาเดมีจริงจัง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 ปี กว่าที่ระบบอคาเดมีไทยเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และต้องรออีกพอสมควรหลังจากนั้นเพื่อเก็บผลผลิตที่ผลิดอกออกผล”