ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี – หากใครมาเยือนถิ่นสุพรรณบุรี ไม่ควรพลาดเดินทางมาที่ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองของคนสุพรรณบุรี หากได้มา กราบไหว้หลวงพ่อโตแล้วเปรียบเสมือนเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ตัวเอง และวัดแห่งนี้ยังเป็นตำนานในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนอีกด้วย

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

วิหารวัดป่าเลไลยก์

วัดป่าเลไลยก์วรวิหารเป็นวัดเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญของ จ.สุพรรณบุรี มาแต่โบราณกาล ตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน ต.รั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สันนิษฐานว่ามีอายุราว 1,200 ปี

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

หลวงพ่อโต

หน้าบันของวิหารมีเครื่องหมาย พระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ธุดงค์มาพบ สมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์

สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลังปีพ.ศ.1724 เล็กน้อย

ส่วนหลวงพ่อโต ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางพระปาลิไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ คือประทับนั่งห้อยพระบาท มีนักปราชญ์หลายท่านระบุว่า เดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้ง

ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่ และทำเป็นปางพระปาลิไลยก์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย จำนวน 36 องค์

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

หลวงพ่อดำ

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

หลวงพ่อทันใจ

หลังจากไหว้หลวงพ่อโตภายในพระวิหารเสร็จแล้ว ก็เดินไปบริเวณด้านหลังของวิหาร จะมีวิหารเล็กๆ เก่าแก่ ภายในมีหลวงพ่อดำ ประดิษฐานอยู่

ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อดำมีอายุ เก่าแก่หลายร้อยปี มีความศักดิ์สิทธิ์ หากมาไหว้ขอพรแล้วให้ลองยกหินเสี่ยงทายสองก้อนที่อยู่บริเวณด้านหน้า แล้วให้อธิษฐานเรื่องที่ปรารถนา ถ้ายกหินขึ้นแสดงว่าจะสมหวัง

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

จิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

ภาพวาดจากเสภาอันลือเลื่อง

เดินไปอีกนิด เพื่อไปชมความงดงามของภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง จากระเบียงคดของพระวิหาร ที่ถูกรังสรรค์จากฝีมือการวาดของจิตรกรด้วยความวิจิตรศิลป์ ผ่านเป็นเรื่องราว วรรณคดีแห่งตำนานเมืองสุพรรณอันลือเลื่องของไทย คือ เสภาขุนช้างขุนแผน นิราศเมืองสุพรรณ ของสุนทรภู่

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

ภายในวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ยังมีคุ้มขุนช้าง ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักแบบโบราณหลังใหญ่ ตามวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ก่อนเดินขึ้นไปด้านบนจะเห็นบริเวณด้านหน้ามีศาลาทั้งสองฝั่งขวาและซ้าย

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

ศิลปินถิ่นสุพรรณฯ

ภายในศาลามีรูปปั้นศิลปินถิ่นสุพรรณฯ ที่ได้ล่วงลับจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งทางครอบครัวและแฟนเพลงได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นไว้ที่นี่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกนึกถึงทั้งราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ และนักร้องลูกทุ่งคนดัง สายัณห์ สัญญา ซึ่งที่ผ่านมามีแฟนเพลงแวะเวียนนำดอกไม้มาไหว้รำลึกคิดถึงอยู่เสมอ

บริเวณทางขึ้นคุ้มขุนช้าง พาสะดุดตากับฉากภาพวาด นางพิมพิลาไลย ขุนช้าง ขุนแผน ให้นักท่องท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แต่หากอยากจะให้เหมือนตัวละครขุนช้างจริงๆ คงต้องขึ้นไปถ่ายรูปด้านบน เพราะยังมีฉากภาพวาด เป็นตัวละครขุนช้างตั้งอยู่

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

โดยบนเรือนแต่ละห้องจะมีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน พร้อมมีตู้จัดแสดงภาชนะเครื่องใช้ถ้วยโถโอชามเก่าแก่ให้ได้ชม ก่อนกลับอย่าลืมเข้าไปไหว้หลวงพ่อทันใจ บนเรือนขุนช้างแห่งนี้ ท่องคาถา 3 จบ แล้วขอพรให้สมหวังดังตั้งใจ

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

คุ้มขุนช้าง

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาที่วัด ยิ่งในช่วงเทศกาลงานบุญก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น การอำนวยความสะดวกต่างๆ ของนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

ภาชนะเก่าแก่

ทางวัดมีคณะกรรมการวัด ชาวบ้าน ร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดีในการดูแลนักท่องเที่ยว ทั้งในส่วนการประชาสัมพันธ์ การจัดตั้งโรงทาน บริการน้ำดื่มฟรี ช่วยอำนวยความสะดวกด้านที่จอดรถ และตรวจตราดูแลความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญมีความสบายใจ และศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

ฉากภาพวาดตัวละครเอก

ส่วนทางวัดจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ ปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

สถานีรถไฟสุพรรณบุรี

ไหว้พระที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหารแล้ว เดินทางต่อไปแค่ 2-3 กิโลเมตร ไปทางด้านหลังหรือด้านหน้าวัดก็ได้ ถึงที่หมายเช่นกัน นั่นคือ “สถานีรถไฟสุพรรณบุรี”

หากย้อนไปในอดีต สัก 30-40 ปี การเดินทางไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนตอนนี้ ถึงช่วงงานบุญประจำปีของวัดป่าเลไลยก์ หนุ่มสาวต่างอำเภอต้องนั่งรถไฟมาเที่ยวงานวัดกันอย่างคึกคัก

ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน

สถานีรถไฟสายสุพรรณบุรีเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2506 จนถึงปัจจุบัน เป็นเส้นทางการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี มีเดินทาง 2 ขบวนในหนึ่งวัน คือ ขบวน เดินทางจากสถานีสุพรรณบุรีเวลาต้นทาง 04.30 น.ไปยังสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ เวลา 08.05 น. และอีกขบวนคือ เดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 16.40 น. ถึงสุพรรณบุรีเวลา 20.15 น. ซึ่งทุกวันนี้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า แม่ค้า นักเรียน และนักท่องเที่ยวบางส่วน

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ ในช่วงยามเช้าและยามเย็น จะเห็นทั้งช่างภาพมือสมัครเล่น และช่างภาพมืออาชีพ ต่างสะพายกล้องคู่ใจมาแชะภาพ ในมุมมองต่างๆ ของชานชาลาสถานีรถไฟแห่งนี้จากที่เคยเงียบเหงากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

หากใครสนใจ อยากลองนั่งรถไฟมาเที่ยววัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เยือนถิ่นสุพรรณบุรี เชื่อว่าจะเป็นการเดินทางที่น่าประทับใจอีกเส้นทางหนึ่ง

หนึ่งฤทัย หนูสวัสดิ์

รายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน