ผลวิจัยเผย ผู้ป่วยที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด 19 เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี แม้สุขภาพดี แข็งแรงแค่ไหนก็ตาม

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เผยแพร่ผลวิจัยจากต่างประเทศ ระบุกลุ่มผู้ที่เคยป่วยโควิด 19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปีหลังจากป่วยเป็นโควิด โดยไม่จำกัดอยู่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น

ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology โดยเผยแพร่ในวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ในปี 2021 มีโอกาสได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานครั้งใหม่เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ

ทีมวิจัยทำการเก็บข้อมูลจากประชากรกว่า 8.5 ล้านคนในฐานข้อมูลของ Department of Veterans Health Administration (VHA) โดยในจำนวนประชากรเหล่านั้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2020 ถึง 30 กันยายน 2021 มีผู้เคยป่วยด้วยโควิด 19 ถึง 181,280 คน

โดยทีมวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ที่เคยป่วยโควิด 19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี หลังจากป่วยเป็นโควิด โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่จำกัดอยู่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น หรือโควิดอาจกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานชนิดใหม่ทั้งหมดได้ เซลล์บางเซลล์เริ่มเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ได้ตั้งใจ

อีกทั้งความเสี่ยงที่สูงขึ้นยังไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อให้ผู้ป่วยรายนั้นเป็นเบาหวาน เช่น น้ำหนักตัวที่มาก ความดันโลหิตสูง คนที่สุขภาพแข็งแรงก่อนติดโควิดมีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากันตัวเลขที่รายงานมาในการศึกษานี้กล่าวว่า ในทุก 100 คนที่ติดโควิดจะมีถึง 2 คน ที่จะมีอาการของโรคเบาหวานภายใน 1 ปี

ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Long Covid ที่อยู่นอกระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบประสาท รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้และความเมื่อยล้า นอกจากนี้ การศึกษาได้เพิ่มหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น โรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจ และโรคไต

นอกจากนี้ ในการศึกษาเมื่อเดือนมีนาคมของวารสาร Diabetologia นักวิจัยชาวเยอรมันพบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 28% ในการวินิจฉัยเบาหวานประเภท 2 เมื่อเทียบกับผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ไม่ใช่โควิด นักวิจัยเปรียบเทียบข้อมูลจากผู้ป่วยโควิด 19 มากกว่า 35,000 ราย กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่ใช่โควิด 19 เท่ากัน ซึ่งผลลัพธ์ คือ ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับโรคเบาหวานประเภทอื่น

มีเหตุผลทางชีววิทยาที่เป็นไปได้หลายประการที่ทำให้การวินิจฉัยโรคเบาหวานอาจเกิดจากการติดเชื้อโควิด 19 การวิจัยระบุว่าไวรัสสามารถแพร่เชื้อและทำลายเซลล์เบตาในตับอ่อนเพื่อให้ผลิตอินซูลินน้อยลง

ในการศึกษาหนึ่ง นักวิจัยพบว่าเมื่อพวกเขาเพิ่มไวรัสโคโรนาลงในตัวอย่างเซลล์เบตา การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดขึ้นในเซลล์ ซึ่งทำให้ความสามารถในการสร้างอินซูลินลดลงอย่างมาก เซลล์ได้ทำสิ่งที่ผิดปกติแทน โดยเริ่มสร้างฮอร์โมนกลูคากอน ซึ่งมีหน้าที่ในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด

ทางด้านดร.อนันต์กล่าวว่า “ถ้าตัวเลขที่การศึกษานี้เป็นจริง ประชากรที่จะเป็นเบาหวานจะมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียวครับ เบาหวานเมื่อเป็นแล้วอยู่กับคนนั้นไปตลอดชีวิต เป็นภาระทางสาธารณสุขที่สำคัญ”

“คิดง่าย ๆ ว่า คนติดโควิด 1 ล้านคน จะมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นอีก 2 หมื่นคนครับ โควิดติดแล้วอาการไม่หนักรักษาหายได้ แต่ความเสี่ยงอะไรแบบนี้เรายังมีข้อมูลน้อยมากครับ ยังไงก็ไม่ควรเสี่ยงไปติดเชื้อไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ “

ขอบคุณที่มาจาก The Lancet The Wall Street

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน