นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าประมาณ ปลายปี 2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุมซึ่งเป็นบัตรใบเดียวที่สามารถใช้เดินทางเชื่อมภาคขนส่งสาธารณะได้ทุกระบบ จะทำการแจกบัตรแมงมุมฟรีจำนวนทั้งสิ้น 2 แสนใบฟรีแก่ประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการใช้บัตรแมงมุม โดยประชาชนที่ได้รับจะไม่ต้องเสียค่ามัดจำบัตรจำนวน 50 บัตร สมารถนำบัตรไปเติมเงินและนำไปใช้ได้ทันที โดยสามารถเติมเงินในบัตรได้สูงสุด 10,000 บาท

ภายหลังแจกบัตรหมด ประมาณช่วงปลายปีนี้รฟม. จะเปิดเปิดขายบัตรแมงมุมตามจุดต่างๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ ร้านสะดวกซื้อ เบื้องต้นคาดว่าในช่วงแรกจะขายในราคาใบละ 50 บาทเท่านั้น โดยจะคิดเฉพาะค่ามัดจำบัตร ไม่คิดค่าธรรมเนียมบัตรเหมือนบัตรอื่นๆ ทั่วไป เพราะรฟม. เป็นผู้บริหารจัดการบัตรเอง

สำหรับกรอบการใช้บัตรแมงมุมนั้นในระยะที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 เริ่ม 1 ต.ค. 2560 ใช้กับรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 800 คัน และจะใช้กับรถเมล์ได้ทั้ง 2,600 คันได้ในปี 2561, ช่วงที่ 2 เริ่มเดือนมี.ค. 2561 ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

และช่วงที่ 3 เริ่มประมาณมิ.ย.-ก.ค. 2561 ใช้กับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลและรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง เรือด่วนเจ้าพระยา และคลองแสนแสบจะอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ระหว่างช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562

“เร็วๆ นี้ รฟม. จะลงนามข้อตกลงร่วมกับกลุ่มผู้ให้บริการระบบขนส่ง เช่น บีทีเอส, บีอีเอ็ม ส่วนผู้ให้บริการนอกภาคขนส่ง เช่น เครือซีพี เดอะมอลล์กรุ๊ป และเซ็นทรัล นั้น สนข. อยู่ระหว่างการเจรจาให้เข้าร่วมบัตรแมงมุมด้วย โดยอาจจะเปิดให้บริการเติมเงิน ออกบัตร หรือให้บริการซื้อขายสินค้าผ่านบัตรแมงมุมแทนเงินสดได้ในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแมงมุม ให้กับสมาร์ตโฟนได้ ซึ่งในอนาคตสามารถนำโทรศัพท์มือถือมาแตะที่เครื่องอ่านแทนการถือบัตรได้เลย คาดว่าจะใช้ระบบสมาร์ทโฟนได้ในปี 2561”

สำหรับบัตรแมงมุม จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือบัตรบุคคลทั่วไปสีน้ำเงิน บัตรนักเรียน/นักศึกษาสีทอง บัตรผู้สูงอายุสีเทา โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะสามารถขออายัดวงเงินได้ในกรณีบัตรหาย

นายชัยวัฒน์กล่าวว่าขณะนี้ สนข. ทำการบรรจุชิบตั๋วร่วมเข้าไปในบัตรผู้มีรายได้น้อยในเขตกทม.และปริมณฑล 6 จังหวัด รวมเป็นบัตรทั้งสิ้น 1.3 ล้านใบ จากบัตรทั้งหมด 11.67 ล้านใบ ซึ่งจะทำให้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้กับระบบตั๋วร่วมได้ด้วย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ผู้มีรายได้น้อยจะสามารถนำบัตรมาใช้กับระบบตั๋วร่วม 3 ประเภท รวมเป็นวงเงิน 1500 บาท แบ่งออก คือรถเมล์ของขสมก., รถโดยสารสาธารณะของบริษัทขนส่งกรุงเทพ จำกัด (บขส.) และรถไฟของการรถไฟแห่ประเทศไทย (รฟท.) โดยรัฐบาลจะทำการเติมเงินให้ฟรีระบบละ 500 บาท โดยไม่สามารถใช้เงินข้ามบัตรแต่ละระบบได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายแก่กระทรวงคมนาคม โดยเน้นย้ำให้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าในเขตเมืองได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ สนข. หารือกับกระทรวงการคลังเบื้องต้นแล้วก็เห็นสอดคล้องกันว่าจะบรรจุการใช้บริการรถไฟฟ้าเข้าไปในบัตรสวัสดิการระบบขนส่งด้วย แต่จะมีการเพิ่มวงเงินจากปัจจุบันรวม 1,500 บาทหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคต รัฐบาลอาจจะมีการรวมวงเงินสัวสดิการผู้มีรายได้ที่ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะเป็นยอดเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกเดินทางได้ทุกระบบ

“นายกฯ อยากให้คนจนได้ใช้รถไฟฟ้าในเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เห็นด้วยแล้วว่าควรจะสนับสนุนสวัสดิการส่วนนี้ด้วย หลังจากนี้ สนข. จะต้องไปเร่งให้ รถไฟฟ้าทุกสายทางติดตั้งระบบที่อ่านระบบตั๋วร่วมได้ เพื่อให้รองรับกับบัตรคนจน ตั้งเป้าว่าภายในเดือนมี.ค. 2561 นี้ ผู้มีราไยด้น้อยจะใช้บัตรคนจนขึ้นรถไฟฟ้าได้ พร้อมกับการใช้บัตรแมงมุม โดนจะเริ่มจากรถไฟฟ้า 2 สายก่อนคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและแอร์พอร์ตลิงก์”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน