ตลอด 70 ปี นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีพ.ศ.2489 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย อันเป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อพสกนิกรไทย รวมถึงด้านการเมืองการปกครอง อาทิ การลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา หรือแม้ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ก็ทรงยื่นพระหัตถ์เข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเสมอมา

 

การแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่สำคัญ ได้แก่

 

  • วิกฤตการณ์ 14 ต.ค. 2516

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%874

วิกฤตการณ์ 14 ต.ค. 2516 มีสาเหตุมาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากชุมนุมประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อเนื่องมาหลายวัน จากกรณีรัฐบาลจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 13 คน ในข้อหากบฏ และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

หลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ต.ค. 2516 กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงได้มารวมกันอยู่ที่บริเวณถนนหน้าพระราชวังสวนจิตรลดาอย่างแน่นขนัด และเริ่มสลายตัวในตอนเช้าวันที่ 14 ต.ค. 2516

ขณะที่มีการสลายตัวของฝูงชน กลับเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นที่บริเวณถนนหน้าพระราชวังสวนจิตรลดา ช่วงถนนพระราม 5 ใกล้กับถนนราชวิถีเพราะฝูงชนที่จะกลับเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายที่หนีได้ก็ปีนป่ายกำแพงเข้าไปในสวนสัตว์ดุสิต ใช้ก้อนหินขว้างปาใส่ตำรวจ

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%872

อีกส่วนหนึ่งก็กรูกันเข้าไปเพื่อหลบภัยอยู่ในพระราชวังสวนจิตรลดา โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดให้เข้าไป ซึ่งผู้คนทั้งหลายมาทราบในภายหลังว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณารับสั่งให้มหาดเล็กช่วยเหลือฝูงชนเหล่านั้นเข้ามาหลบภัยอยู่ในพระราชวังสวนจิตรลดา

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกลับไปรวมตัวกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝ่ายรัฐบาลมีการใช้กำลังเข้าปราบปราม มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายหลายคน

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%871

ในที่สุดเมื่อจอมพลถนอม ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีพระราชดำรัสทางวิทยุโทรทัศน์แก่ปวงชนชาวไทยว่า

“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด

อนึ่งเพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมและแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”

 

  • วิกฤตการณ์พฤษภาทมิฬ

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%875

ในเดือนพ.ค. 2535 ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องรัฐบาลและต่อต้านพล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี เหตุการณ์รุนแรงขึ้นมีการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลถึงขั้นเสียเลือดเนื้อ เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายหลายคน

ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำพล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการประท้วงรัฐบาลเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับกระแสพระราชดำรัสและขอให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนในที่สุดเหตุการณ์ต่างๆ ก็สงบลงด้วยพระบารมีที่ทรงเตือนสติผู้เกี่ยวข้อง ดังกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งดังนี้

“ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือความปลอดภัยและขวัญของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งหนมีความหวาดระแวงว่าประเทศจะล่มจมโดยที่จะแก้ไขลำบากตามข่าวที่ได้รับทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ลูกชาย ลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดีแล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งกับคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่าประเทศไทยนี้จะยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำสถานการณ์อย่าง 3 วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดลงไปได้

ฉะนั้นก็ขอให้ท่านโดยเฉพาะสองท่าน พล.อ.สุจินดาและพล.ต.จำลอง ช่วยกันคิดคือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากันแก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกันมันลืมตัวลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะอันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้แล้ว ที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศ ก็เสียหายทั้งหมดแล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง

จึงขอให้สองท่านเข้ามาคือไม่เผชิญหน้าแต่ต้องหันหน้าเข้าหากันและสองท่านนี้เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่ายคือฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากันให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้วจะมาพูดกันปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้กลับมาคืนได้โดยดี อันนี้เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมาและก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่าเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากสิ่งปรักหักพังแล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดีแก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่จะปรึกษากันก็มีข้อสังเกตดังนี้”

หลังจากนั้น ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว

 

  • วิกฤตการณ์เลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%876

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ให้เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ดังที่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นในต้น พ.ศ.2549 โดยมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประกาศให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549

ฝ่ายที่ต่อต้านนายทักษิณ ได้ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณี นั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราโชวาทต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันอังคารที่ 25 เม.ย. 2549 ว่า

“…ขอยืนยันว่ามาตรา 7 มิได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ มาตรา 7 พูดถึง การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำทุกอย่าง ถ้าทำไปเขาจะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เขาอ้างถึงครั้งก่อนนี้ว่ารัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นไม่มีสภา สภาไม่อยู่ ประธานสภาไม่อยู่ รองประธานสภาทำหน้าที่ เขามีนายกรัฐมนตรีที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ตอนนั้นไม่ใช่นายกฯพระราชทาน ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญ นายกฯพระราชทาน หมายถึง ตั้งนายกฯ โดยไม่มีกฎเกณฑ์…”

การแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองดังกล่าว จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยุติวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยฉับพลัน ระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นและเตือนสติแก่ผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ระลึกถึงความถูกต้องชอบธรรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวไทย

 

ที่มา : “พระราชกรณียกิจด้านการพระราชทานความเป็นธรรมและการแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติ” ของพชร ยุติธรรมดำรง และ www.chaoprayanews.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน