สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย จากสถิติพบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของไทยมาตั้งแต่ปี 2541 รองลงมา คืออุบัติเหตุและโรคหัวใจ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า คนไทยเสียชีวิตดวยโรคมะเร็งประมาณ 70,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย โดยโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์มะเร็งที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่ปัจจุบันพบเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับและปอด ส่วนเพศหญิง พบเป็นอันดับ 4-5 รองจากมะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก และปอด ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 10,624 รายในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 รายในปี 2557 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,000 ราย ตัวเลขในปี 2558 มีผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามารักษาจำนวน 406 รายเป็นผู้ป่วยระยะเริ่มต้นเพียง 18% ขณะทีเป็นผู้ป่วยระยะท้ายถึง 82% หากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ มีคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเกือบ 2 เท่าจากปี 2557 มาอยู่ที่ 21,188 รายในปี 2568

การตรวจสุขภาพคัดกรองโรคมะเร็ง เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่ง โรคมะเร็งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างตามอวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สภาพร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วยมะเร็ง

 

7 สัญญาณอันตราย อาจกลายเป็นมะเร็ง

แพทย์แนะนำตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะมะเร็งระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายสูง ซึ่งอาการแสดงของ 7 สัญญาณอันตราย ได้แก่ 1. ระบบขับถ่ายที่ผันแปร 2. แผลที่ไม่รู้จักหาย 3. ร่างกายมีก้อนตุ่ม 4. กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร 5. ทวารทั้งหลายมีเลือดหรือสิ่งผิดปกติไหล 6. ไฝหรือหูดที่เปลี่ยนไป และ 7.ไอหรือเสียงแหบเรื้อรัง

ร่วมกับซักประวัติครอบครัว

การตรวจร่างกายทั่วไปและการคลำหาก้อนผิดปกติในตำแหน่งที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่มากกกว่าตำแหน่งอื่น เช่น ลำคอ ข้อพับต่างๆ รักแร้ ไหปลาร้า ขาหนีบ ข้อศอก ข้อเข่า การตรวจช่องท้องคลำตับคลำม้ามว่าโตผิดปกติหรือไม่ คลำหาก้อนผิดปกติในช่องท้อง ตรวจภายในทางทวารหนัก เพื่อค้นหาความผิดปกติของทวารหนัก ต่อมลูกหมาก ในเพศหญิง ตรวจคลำหาก้อนผิดปกติบริเวณเต้านม รวมไปถึงการตรวจภายในเพื่อเอาเซลล์ปากมดลูกไปตรวจว่าผิดปกติหรือไม่

นอกจากนั้นคือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เริ่มจากการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบี หรือชนิดซี เพราะจะทำให้เกิดภาวะตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งเซลล์ตับได้ในที่สุด การตรวจหาเชื้อไวรัสหูดหรือไวรัสHPV จากสารคัดหลั่งในช่องคลอด ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ และการตรวจทางรังสีวินิจฉัยของอวัยวะต่างๆ เพิ่มเติมของแต่ละคน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ภัยคุกคามคนเมือง

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สามารถป้องกันได้ สาเหตุของโรคมี 7 ประการ ได้แก่ 1. การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ 2. น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน 3. ขาดการออกกําลังกาย 4. สูบบุหรี่ 5. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา 6. มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย 7. ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก

วิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

มะเร็งชนิดนี้มักเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ที่เรียกว่า โพลิป (Polyp) มีขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ติ่งเนื้อดังกล่าวอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี เนื่องจากขนาดที่เล็กของติ่งเนื้อ จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ จึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะหากตรวจพบติ่งเนื้อชนิดนี้ และทำการตัดรักษาได้จนหมด ย่อมเท่ากับเป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

คัดกรองมะเร็งฟรี! โดย 3 รพ.ชั้นนำ

ในงานมหกรรมสุขภาพตรวจสุขภาพฟรีครั้งยิ่งใหญ่ Healthcare ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ สู้โรค 2019” ที่ กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม นอกจากกิจกรรมตรวจสุขภาพฟรี! โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนระดับประเทศ 30 แห่ง ตลอดทั้ง 4 วัน

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลบริการตรวจโรคมะเร็ง ประกอบด้วย ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม โดยมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์ โรงพยาบาลศิริราช, ตรวจประเมินความเสี่ยงในการรักษาโรคมะเร็ง โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยโรงพยาบาลราชวิถี

ทั้งนี้ รพ.ราชวิถี นำชุดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวเอง (One Step Fecal Occult Blood Test) มาแจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019 จำนวน 3,000 ชุด ตลอดทั้ง 4 วัน วันละ 750 ชุด ซึ่งชุดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด คือ “การตรวจเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ” หรือที่เรียกว่า “Fecal Occult Blood Test” ซึ่งสามารถทำได้โดยเก็บตัวอย่างของอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากเป็นผลบวก แสดงว่าอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

ประชาชนกลุ่มที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ผู้มีอายุ 50-70 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตลอดจนกลุ่มที่มีโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ หากไม่มั่นใจว่าตนมีความเสี่ยง สามารถเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อขอรับคำปรึกษา

ขั้นตอนการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวเอง (One Step Fecal Occult Blood Test) แนะนำโดยรพ.ราชวิถี

ข้อควรระวังในการเก็บตัวอย่างอุจจาระ

  • ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ ต้องมั่นใจว่าไม่ท้องเสีย ท้องผูก ไม่เป็นรอบเดือนหรือริดสีดวงทวาร
  • อุจจาระต้องไม่แข็งหรือเหลวเกินไป
  • งดรับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ หรือยาต้านการอักเสบ อย่างน้อย 7 วัน เช่น แอสไพริน
  • การเก็บตัวอย่างอุจจาระอย่าให้สัมผัสกับน้ำหรือปัสสาวะ โดยวางแผ่นหนังสือพิมพ์ที่ปากโถ กดกลางกระดาษให้หย่อนลง และวางทิชชู่สีขาวซ้อนบนกระดาษอีกชั้น อย่าให้โดนน้ำ จากนั้นนำชุดเก็บตัวอย่างที่แจกมาทำตามขั้นตอน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน