องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2562-2573 ประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 5-10% ต่อปี และเด็กจะป่วย 20-30% ต่อปี หรือสรุปได้ว่าในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง 3-5 ล้านคน และเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สูงถึง 2.9-6.5 แสนคนต่อปี ขณะที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 6 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วยทั่วประเทศกว่า 167,377 ราย คิดเป็นอัตรา 252.45 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เสียชีวิต 13 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 5-9 ขวบ รองลงมาคือ อายุ 10-14 ปี ซึ่งเป็นอายุที่อยู่ในกลุ่มวัยเรียน และกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงสุดคือ 823.34 ต่อประชากรแสนคนเลยทีเดียว

ไข้หวัดใหญ่จึงไม่ใช่ปัญหาไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีประชากรหนาแน่น การติดต่อโรคซึ่งกันและกันก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสเชื้อทางมือ โดยอาการทั่วไปจะคล้ายเป็นไข้หวัด แต่แตกต่างตรงที่มีไข้สูงติดกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน และอาจมีอาการหนาวสั่นสะท้าน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลียร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงใน 5-7 วัน แต่ใน “คนกลุ่มเสี่ยง” ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการรุนแรงมาก และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ปวดบวมจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือสมองอักเสบ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

7 กลุ่มเสี่ยง ต้องระวัง

หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, เด็กเล็ก อายุ 6 เดือนถึง 3 ขวบ, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรับเคมีบำบัด, ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป), ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน (น้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือ BMI 35 ขึ้นไป) ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และที่ขาดไม่ได้ คือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย

ป้องกันได้ด้วย “วัคซีน”

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้ตลอดทั้งปี การฉีดวัคซีนจึงเปรียบดั่งการสร้างเกราะป้องกัน ให้ร่างกายมีความทนทาน สามารถต่อสู้กับไวรัสตัวร้ายได้มากยิ่งขึ้น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ตายแล้ว โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังการฉีด ในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody) ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันได้ดีที่สุด โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด สามารถแพร่ระบาดไปได้ทั่วโลก และสายพันธุ์ B ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเฉพาะภูมิภาค มีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A แต่รุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น

เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ที่เพิ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครั้งแรก ก็ควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 เข็ม โดยให้เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

“ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว โอกาสในการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคจะลดลง ดังนั้นประชาชนไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำสเมอควบคู่กันไปด้วย”

ฉีดวัคซีนได้ที่ไหน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะแบ่งออกเป็น วัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ คือ A Michigan (H1N1), A Switzerland (H3N2) และ B Colorado (Victoria lineage) และ วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ คือ A Michigan (H1N1), A Switzerland (H3N2), B Colorado (Victoria lineage) และยังสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ B Phuket (Yamagata lineage) เพิ่มด้วย

โดยส่วนใหญ่ โรงพยาบาลเอกชนจะมีให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ วันนี้มติชนได้รวบรวมราคาแพคเกจวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปี 2562 ของโรงพยาบาลชั้นนำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มาให้แล้ว ไปดูกันเลย

  • โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ราคา 980 บาท
  • โรงพยาบาลสินแพทย์ ราคา 900 บาท
  • โรงพยาบาลเวชธานี ราคา 880 บาท
  • โรงพยาบาลยันฮี ราคา 770 บาท
  • โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ราคา 950 บาท
  • โรงพยาบาลเพชรเวช ราคา 750 บาท
  • โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ราคา 890 บาท
  • โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ราคา 820 บาท
  • โรงพยาบาลหัวเฉียว ราคา 858 บาท
  • โรงพยาบาลบางโพ ราคา 849 บาท
  • โรงพยาบาลพระราม 9 ราคา 890 บาท
  • โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ราคา 890 บาท

(ไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์)

หลังฉีดวัคซีนควรเฝ้าดูอาการแพ้วัคซีนร่วมด้วย ถ้าหากเกิดขึ้นอาการจะปรากฎภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง โดยจะมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี! ถวายเป็นพระราชกุศล

ข่าวดีสำหรับ “ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง” ที่กล่าวไปข้างต้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนองนโยบายรัฐบาล นำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลฉีดให้ฟรี ในงาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019 เพียงลงทะเบียนล่วงหน้า ผ่านการแสกน QR Code ใส่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเบอร์โทรศัพท์มือถือ, รอรับรหัสยืนยันทางข้อความ sms (ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียน) และมาตรวจคัดกรองในงาน เพียงเท่านี้ ก็สามารถรับวัคซีนได้ฟรี (1 เข็ม/คน) ตลอดทั้ง 4 วัน

เสริมทัพด้วยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมขนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ฉีดฟรีให้กับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 100 เข็มแรก ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ได้ในราคาเพียง 300 บาท ราคานี้ไม่เคยมีฉีดที่ไหน พิเศษสุดเท่าที่เคยมีมา “200 เข็มต่อวัน” พบกัน 27-30 มิถุนายนนี้ กับสถานที่ใหม่ การันตีความยิ่งใหญ่กว่าเดิม ณ “ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี”

ใต้ภาพ : สำหรับผู้ที่สะดวกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ทางงานมีบริการรถรับส่งพิเศษ 6 เที่ยว ตลอดทั้ง 4 วัน เที่ยวไปจาก BTS หมอชิต (ทางออก 2 และ 4) ถึงเมืองทางธานี รถออกเวลา 8.00 น. 11.00 น. และ 13.00 น. และเที่ยวกลับ จากเมืองทางธานี ถึง BTS หมอชิต รถออกเวลา 13.00 น. 15.00 น. และ 17.00 น. พบกัน 27-30 มิถุนายนนี้ ณ “ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี”

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน