ด้วยพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระดำริวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไทยมีความก้าวหน้า นำเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยให้ก้าวสู่มิติใหม่จึงเกิดเป็นโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการเปิดดำเนินการในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งรพ.จุฬาภรณ์มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ที่ให้บริการแก่ประชาชน ดังเช่นศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ที่เปิดให้บริการตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลเพทซีทีด้วยอัตราค่าบริการที่เข้าถึงได้

“ดิจิทัลเพทซีที”
ตรวจเร็วรักษาเจาะจง

รศ.พญ.ชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการผลิตสารเภสัชรังสี ให้บริการตรวจเพทซีทีแก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาและผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาการศึกษาวิจัยคิดค้นการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ยังมีเครื่อง ดิจิทัลเพทซีที (Digital PET/CT Biograph Vision)” ใหม่ล่าสุดที่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการให้บริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหัวใจ นับเป็นการพลิกโฉมนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง ระบบประสาท และหัวใจที่ทันสมัย เนื่องจากสามารถสแกนด้วยความรวดเร็ว ได้ภาพคมชัดสูงทำให้สามารถประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสูงสุด

คุณสมบัติของเครื่องดิจิทัลเพทซีที เครื่องนี้ประกอบด้วยเครื่องเพทและเครื่องซีทีรวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน จึงทำให้ได้ข้อมูลเมตาบอลิซึ่มและข้อมูลด้านกายวิภาคในการตรวจครั้งเดียว และมีคุณสมบัติสามารถทำการเก็บข้อมูลแบบ dynamic whole body แบบ real time ได้ เพื่อนำมาสร้างภาพและสามารถบ่งชี้ถึงระดับเมตตาบอลิซึมของสารเภสัชรังสีออกมาเป็นค่าเชิงตัวเลข (quantitative) ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำให้สามารถประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสูงสุด ก้าวสู่มิติใหม่ของการตรวจวินิจฉัยกับ “Digital PET/CT Biograph Vision” สแกนเร็วจนผู้ป่วยร้องว้าว ด้วย 10 คุณสมบัติของเครื่องที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ดังนี้

  1. Ultra-Dynamic Range ของหัวนับวัด (Detector) มีการตอบสนองที่ดีต่อรังสีความแรงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้กับสารรังสีหลายชนิดมากขึ้น
  2. ขนาดคริสตัลที่ใช้ในการทำหัวนับวัดรังสีมีขนาดเล็กที่สุดในปัจจุบัน ทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงมาก สามารถสร้างภาพได้อย่างชัดเจนแม้มีรอยโรคขนาดเล็กทำให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  3. สามารถเก็บค่านับวัดได้ในเวลาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการสแกนลงถึง 3 เท่า
  4. มีค่า Time of flight ที่สั้นที่สุดในปัจจุบัน สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียด และความชัดเจนสูง เพื่อลดการใช้รังสีกับผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีลดลง และลดระยะเวลาในการตรวจให้สั้นที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น
  5. เครื่อง PET/CT ในอดีตจะรายงานผลค่าของ SUV ซึ่งเป็นเพียงค่าการสะสมของน้ำตาล แต่ในเครื่องดิจิตอลเพทซีที สามารถวิเคราะห์การใช้น้ำตาล (Ki) ในรอยโรคนั้นๆ ได้ ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลการรักษา
  6. สร้างภาพหัวใจแบบ Dual Gating Deviceless ได้ โดยใช้เพียงการจับการเต้นของหัวใจด้วย EKG
  7. มีระบบ Software ซึ่งสามารถลด Metal Artifact ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายบริเวณในการเก็บภาพออกไปเพื่อครอบคลุมบริเวณรอยโรคทั้งหมด
  8. มีระบบ AI ช่วยในการระบุตำแหน่งของอวัยวะหรือรอยโรคในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพื่อทำการคำนวณได้โดยอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
  9. บริเวณช่องรับตัวผู้ป่วย (Bore) มีความกว้างมากถึง 78 cm. และขนาดอุโมงค์ที่สั้น ทำให้ลดความอึดอัด และเพิ่มความสบายให้กับผู้ป่วยระหว่างการตรวจวินิจฉัย
  10. มีเทคนิคใหม่ในการถ่ายภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหน้าอก และช่องท้องจากการหายใจ และหัวใจที่มีการเต้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการแก้ไขการสั่นไหวของภาพโดยไม่เพิ่มเวลาในการถ่ายภาพ ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดโดยผู้ป่วยไม่ต้องกลั้นหายใจ

บริเวณช่องรับตัวผู้ป่วยมีความกว้างและขนาดอุโมงค์สั้นช่วยลดความอึดอัด และเพิ่มความสบายใจให้กับผู้ป่วยในแง่ของการตรวจด้านรังสี PET/CT มีตัวคริสตัลสำหรับวัดรังสีที่เล็กที่สุด จะเก็บความละเอียดทำให้ประเมินและประมวลภาพได้อย่างละเอียดแม้แต่รอยโรคที่มีขนาดเล็ก ทำให้เราฉีดกัมมันตรังสีกับคนไข้น้อยลงด้วย มีมะเร็งหลายชนิดที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ด้วยเครื่องนี้ แต่ทั้งนี้คนไข้ต้องได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็ง และต้องการดูระยะของโรค หรือมาเช็คว่าตอบสนองต่อการรักษา รวมทั้งการตรวจหาโอกาสเกิดซ้ำของมะเร็งในผู้ป่วยที่จบการรักษาไปแล้ว

รศ. พญ.ชนิสา โชติพานิช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ สามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์ สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ได้ทั้งหมด 16 ชนิดแล้ว เพื่อให้ได้สารที่เหมาะสมกับโรคของคนไข้ เช่น อนุพันธ์น้ำตาลที่ใช้ตรวจในผู้ป่วยมะเร็งทั่วไป หรือสารที่ชื่อ 18F-PSMA1007, 68Ga-PSMA-11 สำหรับตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และสารเภสัชรังสีที่นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 177Lu-PSMA-617 เป็นต้น โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ครั้งละ 20,000 บาทขึ้นไป และในประมาณช่วงปลายปี 2562 นี้ รพ.จุฬาภรณ์ จะเปิดตัวเครื่องมือใหม่ชื่อ PET/MRI เป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ที่มีความแม่นยำสูงและจะเปิดให้บริการตรวจในผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ฉีดสีดูต่อมน้ำเหลือง
ยกระดับคุณภาพผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช

นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยานรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ดูแลครบวงจรเรื่องมะเร็งนรีเวชตั้งแต่ตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็ง การผ่าตัด การฉายแสง และการให้เคมีบำบัดและยามุ่งเป้า สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น มีทั้งการผ่าตัดหน้าท้องและการผ่าตัดผ่านกล้องที่ใช้กับมะเร็งมดลูกและมะเร็งปากมดลูก ซึ่งให้ผลการรักษาที่ไม่ต่างกันและผลข้างเคียงจะน้อยกว่าคือแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยยกระดับการรักษาการผ่าตัดผ่านกล้องมะเร็งนรีเวชนั่นคือการฉีดสีเพื่อระบุต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งจะกระจายไป (Sentinel lymph node mapping surgery)ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกตัดต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งมักจะกระจายไปบางต่อมแทนที่จะตัดทั้งหมด เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน เช่น ขาบวม หรือ ซีสต์ต่อมน้ำเหลืองที่จะต้องมาดูแลรักษาหลังผ่าตัดให้ลดลงได้โดยที่ผลการรักษายังดีเช่นเดิม หากการพัฒนานี้สำเร็จผลข้างเคียงเหล่านี้จะลดลง การผ่าตัดจะเร็วและผลข้างเคียงจะน้อย

เราวิจัยอยู่ประมาณ 2-3 ปีแล้ว โดยทำควบคู่กันไปกันไปกับการรักษาแบบดั้งเดิม และคาดว่าในอนาคตการรักษาด้วยวิธีการนี้จะเป็นมาตรฐานดังเช่นมะเร็งเต้านม ซึ่งการผ่าตัดฉีดสีเพื่อระบุต่อมน้ำเหลืองแบบนี้เป็นมาตรฐานไปแล้ว แต่ในทางมะเร็งนรีเวชยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยอยู่นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด
แม่นยำสูง ถูกคน ถูกยา ถูกขนาด

แนวโน้มการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงในโรงพยาบาล การใช้หุ่นยนต์จัดยา หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด รวมถึงหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดแบบครบวงจรจึงมีให้เห็นมากยิ่งขึ้น รพ.จุฬาภรณ์เองก็เช่นกัน นอกจากมุ่งเน้นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจรแล้ว การเลือกนำหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด เทคโนโลยีจากประเทศแคนาดามาใช้ภายใต้การกำกับดูแลควบคู่กับองค์ความรู้ของเภสัชกร เพื่อพัฒนาศักยภาพในการบริการจึงนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้า

ภญ.นัฐฐยา สุนทรมณี กล่าวว่า ในส่วนงานเภสัชกรรมของรพ.จุฬาภรณ์ นอกจากงานบริการจ่ายยา งานบริบาลเภสัชกรรมแล้ว ยังมีบริการเตรียมยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายด้วย ซึ่งเดิมเตรียมยาโดยเภสัชกร ภายในตู้ปราศจากเชื้อ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มของกลุ่มผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่เพิ่มมากขื้น จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการจึงเป็นที่มาของนวัตกรรมหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดแบบครบวงจรที่ทำงานด้วยแขนกล และควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติในสภาวะปลอดเชื้อ ตามมาตรฐานการเตรียมยา คำนวณปริมาณยาจากการชั่งน้ำหนัก ซึ่งมีความจำเพาะตามความหนาแน่นของยาแต่ละชนิด และมีการถ่ายภาพยืนยันชนิดยาที่เตรียม อีกทั้งยังมีระบบทวนสอบความถูกต้องของยาได้

หลักการทำงานและศักยภาพของหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด จะทำได้ดีที่สุดกรณีที่เตรียมยาชนิดเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของโรงพยาบาลจะมีการวางแผนล่วงหน้าในการนัดผู้ป่วยที่ได้รับยาสูตรเดียวกัน มารับยาในวันเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับยารวดเร็ว ตรงตามเวลา ช่วยลดการแออัดและจัดระเบียบการให้บริการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การจะเลือกนำเทคโนโลยีใดมาใช้ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ ทั้งในด้านความถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัย หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดแบบครบวงจรยังผ่านการรับรองมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงสำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาทำให้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในความถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย การทำงานของหุ่นยนต์ผสมยา มั่นใจได้ว่ายาที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยนั้น ถูกคน ถูกยา ถูกขนาดและมีความแม่นยำสูงแน่นอนและปลอดภัยทั้งกับผู้ปฏิบัติงานช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสยาโดยตรงภญ.นัฐฐยา แจง

“ยาภูมิคุ้มกันบำบัด”
ความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไปประกอบด้วยการรักษาแบบใช้หลายวิธีร่วมกัน (multimodality treatment) ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายแสง และการใช้ยา แต่หากกล่าวถึงการรักษาโรคมะเร็งด้วยยา หลายคนคงนึกถึงการให้คีโมหรือเคมีบำบัด (chemotherapy) ซึ่งเป็นการใช้ยาเคมีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง ข้อดีของการใช้ยาเคมีบำบัดคือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและราคาไม่สูง แต่ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญคือยาเคมีบำบัดทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของร่างกายบางอวัยวะด้วย ทำให้ร่างกายผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาไม่มากก็น้อย วงการแพทย์ทั่วโลกได้มีความพยายามหาวิธีใหม่ๆในการเอาชนะมะเร็ง จนในปัจจุบันได้มีการค้นพบวิธีการรักษาโดยใช้ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ยาพุ่งเป้า(targeted therapy) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะและส่งผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ล่าสุดได้มีการรักษามะเร็งทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจนั่นคือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

พญ.ปิยะรัตน์ ลิมปวิทยากุล อายุรแพทยโรคมะเร็ง รพ จุฬาภรณ์ กล่าวว่า นวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หลักการรักษาคือ ยาในกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือเซลล์เม็ดเลือดขาวให้แข็งแรงโดยออกฤทธิ์ยับยั้งกลไกที่กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีและจัดการเซลล์มะเร็งได้ดีมากยิ่งขึ้น เป็นการใช้กลไกธรรมชาติคือใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเองให้มาต่อสู้กับตัวโรคนั่นเอง

มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบำบัด และได้รับความสนใจในวงกว้าง ในปัจจุบันภูมิคุ้มกันบำบัดก็ได้เข้ามามีบทบาทการรักษามากขึ้นในหลายๆมะเร็ง เช่น มะเร็งศรีษะและลำคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเซลล์ตับ เป็นต้น

ข้อดีของการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดมีหลายข้อ เช่น เป็นการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีข้อมูลว่าผู้ป่วยที่ตอบสนองกับยา จะมีการตอบสนองอย่างต่อเนื่อง และ ยาวนานกว่ายาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงน้อย, เป็นการรักษาในมะเร็งบางอย่างที่ไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด เช่น มะเร็งไต เป็นต้น, เป็นทางเลือกหนึ่งในผู้ป่วยบางมะเร็งที่ผ่านการรักษาแบบยาเคมีบำบัดมาหลายขนาน และที่สำคัญคือเป็นยาที่มีโอกาศพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีแพทย์ให้ความสนใจในวงกว้างและมีงานวิจัยใหม่ๆออกมาตลอด ในอนาคตมีโอกาสที่จะใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคมะเร็งชนิดอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น และ มีการพัฒนาไปรักษามะเร็งในระยะต้นมากขึ้น จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยาภูมิคุ้มกันบำบัดก็มีข้อจำกัด เช่น ยังใช้รักษาในมะเร็งบางชนิดเท่านั้น และแม้จะเป็นทางเลือกใหม่ การตอบสนองต่อยาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อาจจะต้องตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อประเมิณผลการตอบสนองในผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง สิทธิในการเข้าถึงยายังมีข้อจำกัด และมีใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเท่านั้น ผลข้างเคียงน้อยกว่าจริงแต่ก็ไม่สามารถละเลยได้ ดังนั้น การใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละคน จึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาและต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ”พญ.ปิยะรัตน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน