นับตั้งแต่คณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) ได้เลือกพื้นที่ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ในความดูแลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมใหม่แห่งอีอีซี หลังจากนั้นวังจันทร์วัลเลย์ก็กลายเป็นที่น่าจับตามองในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การลงทุน ตลอดจนการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนโดยรอบโครงการ จะเรียกว่าพื้นที่แห่งนี้จึงถูกวางตำแหน่งให้เป็นเหมือนกับซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐอเมริกาก็ใม่ปาน

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะวังจันทร์วัลเลย์ถูกพัฒนาตามแนวคิด Powering Thailand’s Transformation เพื่อยกระดับขีดความสามารถการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยจุดเด่นของวังจันทร์วัลเลย์ คือการออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อปูทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมสำหรับการเป็นแพลตฟอร์มให้กับภาคธุรกิจต่างๆ มาพัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ

วังจันทร์วัลเลย์ ประกอบด้วยพื้นที่หลายโซน ได้แก่ พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) จะเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย การสร้างนวัตกรรมในประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่จะสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศพร้อมกันนี้ยังมีเป้าหมายการสร้างพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่ด้วยโครงการปลูกป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จึงจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยด้านการปลูก ฟื้นฟูและจัดการป่าไม้ ขึ้นมาเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปศึกษา จึงนับว่าโซนการศึกษาของวังจันทร์วัลเลย์เป็นการพัฒนาพื้นที่สำหรับสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย อีกทั้งยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของภาคตะวันออก

ขณะที่พื้นที่อีกกว่า 2,000 ไร่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปตท. ได้ร่วมพัฒนากับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) ในโซนที่สอง คือพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร พร้อมรองรับวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EECi ได้แก่ พื้นที่รองรับการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน ศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups and Innovation Center) แหล่งรวมศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research Infrastructure) เช่น โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) โรงงานสาธิต (Demonstration Plant) พื้นที่ทดลองผลิตและพื้นที่ทดสอบตลาด (Living Lab)

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ(Intelligent Operation Center : IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ ซึ่งอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ IOC เปิดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ส่วนสุดท้ายก็คือพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อาศัยในพื้นที่ ประกอบด้วยสถานที่พบปะสังสรรค์ ศูนย์การค้า สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวเพื่อความยั่งยืน โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ/โรงเรียนสอนภาษา เพื่อรองรับความเป็นอยู่ของนวัตกร ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศขององค์กรเอกชน ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่เข้ามาในวังจันทร์วัลเลย์ เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เหมาะและเอื้ออำนวยต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการภายในวังจันทร์วัลเลย์ทั้ง 3 โซน ดำเนินการไปแล้วกว่า 95% และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี พ.ศ. 2564 และเริ่มให้บริการแก่นักลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า และเมื่อเร็วๆ นี้ วังจันทร์วัลเลย์ ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศ ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ Smart City Thailand ซึ่งก็คือ Smart Economy , Smart People, Smart Living, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy และ Smart Governance ซึ่งนับว่ามาเร็วกว่ากำหนด โดยหลังจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ปตท.จะเร่งสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อสร้างความร่วมมือและผลักดันพื้นที่ให้เหมาะสมกับการพัฒนานวัตกรรมของเมืองไทย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน