แม้บ้านจะได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่อาจไม่ใช่กับทุกครอบครัว เพราะจากข้อมูลของ ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) พบว่า สถิติของผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ช่วงเดือน ต.ค. 2562 – เม.ย. 2563 ทั้งสิ้น 141 ราย แบ่งออกเป็น ความรุนแรงทางร่างกาย 87% ทางเพศ 9% และทางจิตใจ 4% โดยมีปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ยาเสพติด 35% บันดาลโทสะ 33% หึงหวง 25% สุรา 17% เท่ากับการล่วงละเมิดทางเพศ 17% อาการจิตเภท 9% และจากเกม 2% ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคกลาง อีสาน ใต้ เหนือ และ กทม. ตามลำดับ ขณะที่ สถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 – ถึง เม.ย. 2563 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน

สค. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำคู่มือ “การสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน” เพื่อมุ่งสร้างพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัวสำหรับเด็กและสตรี โดย “นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์” ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ พม. กล่าวว่า การจัดทำคู่มือดังกล่าว ถือเป็นแนวทางในการทำงานในชุมชนสำหรับ พมจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างพื้นที่ปลอดภัย ทำงานระดับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา สค. ได้ดำเนินการช่วยเหลือในระดับพื้นที่ มีทีม One Home ทำหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือ เยียวยา โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เป็นกลไกขับเคลื่อน ปัจจุบันมี 7,149 แห่ง ทำหน้าที่เฝ้าระวังเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง เปิดศูนย์ฝึกอาชีพสตรี 8 แห่งทั่วประเทศ สร้างอาชีพ พร้อมให้ทุนในการฝึกอาชีพ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สำหรับคู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน ได้รวบรวมบทเรียนต่างๆ ที่สามารถลดความรุนแรงได้ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น นำไปสู่การการถอดบทเรียนจากแกนนำในชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสถานการณ์ความรุนแรงในชุมชน รวมถึงจัดทำคู่มือปฏิบัติงานในระดับชุมชน พัฒนาข้อมูลทั้งจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) สถานีตำรวจ และการรับเรื่องร้องทุกของ พม. เพื่อให้รวมเป็นฐานเดียวกัน” นางภรณี กล่าว

สำหรับตัวอย่างชุมชน ที่ดำเนินการและสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้สำเร็จ ได้แก่ ชุมชนไทยเกรียง อ.พระประแดง จ.สมุนทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม มีประชากรหลากหลายกว่าหมื่นหลังคาเรือน จำนวน 9 หมู่บ้าน โดยการเดินหน้าและผลักดันของ ป้ากุ้ง – อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา

ป้ากุ้ง เล่าว่า ตนได้ทำงานร่วมกับชุมชนจึงรู้ต้นเหตุปัญหาความรุนแรง คือแอลกอฮอลล์ จึงเริ่มทำโครงการลด ละ เลิก เหล้า : ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ในปี 2547 จากกลุ่มคนเล็กๆ รอบโรงงานประสานงานกับประธานชุมชน ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ โดยกลุ่มอาสาสมัคร คือ ผู้ชายที่เคยติดเหล้า และผู้หญิงที่เคยถูกใช้ความรุนแรง รวมถึงจัดโครงการแยกกลุ่มพูดคุยกับพ่อบ้าน และแม่บ้าน สร้างความเข้าใจในเชิงบวก จนเกิดบุคคลต้นแบบเลิกเหล้าเป็นแกนนำหลัก เกิดการขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคม พัฒนา ขยายผล ยกระดับเป็นบรรทัดฐานทางสังคมใหม่

ทั้งนี้ การพัฒนาของชุมชนไทยเกรียง ถือเป็นต้นแบบการยกระดับจาก “คุ้มครองแรงงาน” สู่ “งานคุ้มครองทางสังคม” ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกรูปแบบทั้งผลกระทบจากการดื่มเหล้า ความรุนแรงในครอบครัว เพศ ควบคู่กับการพัฒนาสวัสดิการทางสังคมของกลุ่มแรงงาน ถือเป็นการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตรูปแบบหนึ่ง นำไปสู่การคุ้มครองทางสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน