ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้จัดตั้งโครงการเกษตรวิชญา วันที่ 21 ธันวาคม 2544 เนื่องจากทรงเล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติถูกทำลายจากกิจกรรมการเกษตรบนพื้นที่สูง เกษตรกรขาดความเข้าใจในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน อีกทั้งเกษตรกรยังไม่เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติมากนัก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ในพื้นที่หมู่บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ สถานศึกษา และราษฎร จากเดิมสภาพพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม ทำให้เกิดพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และปลูกจิตสำนึกของชุมชนให้มีความรัก ความหวงแหนในการดูแลป่าไม้สืบต่อไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จึงจัดพิธีเปิด ‘โครงการขยายผลธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิชญา) สู่ธนาคารอาหารครัวเรือน’ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยมี นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมพิธี ณ พื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

สืบสาน รักษา และต่อยอด” เพื่อสุขแห่งพสกนิกร

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. หนึ่งในหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมนำพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ด้วยการขยายผลพระราชดำริธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิชญา) สู่การสร้างธนาคารอาหารครัวเรือน ในเขตปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งยังนำร่องสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย 12 ชุมชน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยา เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ ชลบุรี ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ ส.ป.ก. ยังได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช และกล้าไม้ จากกรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ และหน่วยงาน บูรณาการ โดยมีเมล็ดพันธุ์รวม 115 ชนิด และกล้าไม้ป่า ไม้ยืนต้น รวม 12,000 ต้น เพื่อจัดทำกล่องปลูกความมั่นคง เป็นสัญลักษณ์ในการส่งมอบความมั่นคงทางอาหาร ให้ตัวแทนเกษตรกรทั้ง 12 จังหวัด นำไปปลูก ขยาย และแบ่งปันในชุมชน

ซึ่งในปี 2570 ส.ป.ก. จะขยายผลพระราชดำริธนาคารอาหารชุมชนให้ครบทั้ง 72 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นเครือข่ายธนาคารอาหารและธนาคารเมล็ดพันธุ์ ในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้กับเกษตรกรและชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้น้อมนำพระราชดำริไปปฏิบัติและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต สร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนธนาคารอาหารชุมชน’ คืนพื้นที่ป่าสู่ความอุดมสมบูรณ์

นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ส.ป.ก. ได้พัฒนาโครงการธนาคารอาหารชุมชนในพื้นที่ 123 ไร่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ และเป็น แหล่งอาหารของชุมชน ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลให้พื้นที่ป่าที่เคยเสื่อมโทรมได้ฟื้นฟู เป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชน รักษาไม้ยืนต้นให้เป็นป่าผสมผสาน ตลอดจนมีการดูแลและรักษาระบบนิเวศโดยคนในชุมชน

ปัจจุบันธนาคารอาหารชุมชนมีพืชอาหารและสมุนไพรมากกว่า 123 ชนิด ทั้งไม้ยืนต้นประมาณ 133,600 ต้น ทำให้ราษฎรบ้านกองแหะ 148 ครัวเรือน และมีประชากร 450 ราย ได้มีพืชอาหาร พืชสมุนไพร ปลา และสัตว์น้ำประจำถิ่น ไว้บริโภคหมุนเวียนตลอดปี และยังมีไม้ใช้สอย เช่น ไม้ไผ่ 5 สกุล 8 ชนิด และไม้ยืนต้นต่างๆ ด้วยข้อตกลงการใช้ประโยชน์ที่เกื้อกูลกันกับธรรมชาติ จึงทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล

อย่างไรก็ตาม เพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคลทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงได้จัดพิธี

มอบโฉนดเพื่อการเกษตร 72,000 ฉบับ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับโฉนดเพื่อการเกษตรด้านสิทธิและหน้าที่แก่เกษตรกร ให้สามารถต่อยอดโฉนดเพื่อการเกษตรอันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน