พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) เป็นราชบัณฑิต สาขาวรรณศิลป์

เป็นพระเถระรูปแรกในสังฆมณฑลที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้

มีนามเดิม ชอบ ชมจันทร์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค.2444 ที่บ้านหัวไผ่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี บิดาชื่อ นายชม มารดาชื่อ นางจันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน และพี่น้องต่างมารดาอีก 6 คน

อายุ 8 ขวบ เรียนหนังสือไทยเบื้องต้นที่บ้านคุณยายช้อย แล้วไปต่อที่วัดพลับ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี สอบได้ชั้นมูล 3 และศึกษาจนจบชั้นสูงสุดจึงได้หยุดการเรียน

อายุ 14 ปี บรรพชาที่วัดพลับ โดยมีพระครูพนัสนิคม เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังบวชได้ 2 ปี คุณยายช้อยพาไปฝากเรียนบาลีที่วัดใต้ต้นลาน อ.พนัสนิคม โดยมีพระอธิการกราน เป็นเจ้าอาวาส และเป็นผู้เริ่มเปิดบาลีขึ้นใน พ.ศ.2459 โดยอาราธนาพระครูอุดมธรรมวินัย (เงิน) วัดจักรวรรดิราชาวาส กทม.เป็นครูสอน

ได้เรียนบาลีมูลกัจจายนะ แต่ยังไม่ทันแปลคัมภีร์ ครูก็ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวถนน อ.พนัสนิคม โรงเรียนปิดโดยปริยาย จึงเดินทางไปเรียนบาลีต่อที่กรุงเทพฯ

พ.ศ.2461 ไปอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษดิ์ กทม. เมื่อครั้งสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) สมัยยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพโมลีให้ไปอยู่คณะสลัก

เวลานั้นจำกัดอายุนักเรียนสอบธรรม ถ้าเป็นสามเณรต้องอายุ 19 ปี จึงจะสอบได้ และมีเรียนเพียงชั้นตรีกับชั้นโทเท่านั้น ชั้นเอกยังไม่มี

ท่านเรียนพระปริยัติธรรม (แผนกนักธรรม) ควบคู่กันไป พ.ศ.2462 สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ.2463 สอบได้นักธรรมโท แต่ไม่ได้ต่อนักธรรมเอก เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการเรียนการสอน จากนั้นก็เรียนบาลีไวยากรณ์ต่อ

เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดมหาธาตุ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2465 สมเด็จพระวันรัต (เฮง) เมื่อดำรงสมณศักดิ์พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระศรีสมโพธิ (ช้อย ฐานทัตโต) เป็น พระกรรมวาจาจารย์ และ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตติสาโร) เป็น พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า อนุจารี

ภายหลังอุปสมบท เป็นทั้งนักศึกษาและครูสอนบาลี กระทั่งสำเร็จเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2489 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชลธารมุนี พ.ศ.2492 เป็นชั้นราชที่ พระราชสุธี พ.ศ.2495 เป็น ชั้นเทพที่ พระเทพเมธี พ.ศ.2499 เป็นชั้นธรรมที่ พระโกศาจารย์

พ.ศ.2530 จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ “พระพิมลธรรม”

ท่านเป็นผู้บุกเบิกในด้านเผยแผ่ทั้งในและนอกประเทศ นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา และอำนวยการสร้างวัดไทยในอเมริกาหลายวัดจนเจริญรุ่งเรือง อาทิ ลอสแองเจลิส, นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด, รัฐยูทาห์, วาวเวก เนเธอแลนด์ และสร้างพระพุทธรูปประจำวัดลอสแองเจลิส, วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำการสอบธรรมสนามหลวงไปเปิดในต่างประเทศ เช่น รัฐกลันตันและรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

แนวทางการเผยแผ่ของท่าน มุ่งเน้นย้ำให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนให้มากที่สุด

และยังมีตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญมากมาย อาทิ กรรมการชำระพระไตรปิฎกแปล, กรรมการตรวจบาลีสนามหลวง, กรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย, เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี, แม่กองธรรมสนามหลวงถึงพ.ศ.2503, เจ้าคณะตรวจการภาค 9, งานตรวจประกวดหนังสือชิงรางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ

ด้านเชิงกวีนิพนธ์ ประพันธ์บทคำกลอนในเชิงวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในทางพุทธศาสนาไว้มากมาย รวมจำนวนมากกว่า 109 เรื่อง เช่น เทวธรรม (พ.ศ.2490) โอวาทสมเด็จ (พ.ศ.2497) ตำนานสวดมนต์ (พ.ศ.2502) งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พ.ศ.2504) พระคุณของแม่ (พ.ศ.2513) สุญญตา ธรรมิกถาร้อยกรอง (พ.ศ.2517) ฯลฯ

รวมทั้งริเริ่มยกฐานะวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ ผลงานวรรณกรรมที่ได้รับพระราชทานรางวัล คือ เรื่อง วุฒิ 4 และ “จักร 4” และหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง “ตระกูลอันมั่งคั่ง จะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน 4”

ปัจจุบันผลงานทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ที่ หอธรรมราชบัณฑิต วัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี และถูกนำไปใช้เป็นข้อคิดเตือนใจพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านอาพาธเรื้อรัง ก่อนละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2535 เวลา 13.40 น. สิริอายุ 92 ปี พรรษา 70

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน