“หลวงพ่อดำ สุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวหมอน ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง พระเกจิชื่อดังที่ชาวพัทลุงให้ความเลื่อมใสศรัทธา

ย้อนอดีตไปเมื่อกว่า 60-70 ปี ในพื้นที่ ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง ค่อนข้างทุรกันดาร ด้วยสภาพพื้นที่ที่ชุกชุมไปด้วยชุมโจร ประกอบกับอีกหลากหลายปัญหานานัปการ

ชาวบ้านในชุมชนต้องการที่อาศัยพึ่งพิง โดยเฉพาะหลวงพ่อดำ ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสศรัทธาและเข้มขลังด้วยวิทยาคม ช่วยสงเคราะห์ให้ชุมชนมีความร่มเย็นเป็นสุข

นามเดิมชื่อ ดำ ทองมี ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 10 ม.ค.2423 ณ บ้านท่าแค หมู่ที่ 7 ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

ชีวิตในวัยเด็กชอบศึกษาสนใจในเรื่องคาถาอาคมต่างๆ เป็นอย่างมาก และชอบไปคลุกคลีกับครูบาอาจารย์วัดต่างๆ เพื่อจะศึกษาวิทยาคม

ไม่เว้นแม้แต่พ่อแก่พ่อเฒ่า คนที่มีอายุ มีวิชาแก่กล้าในสมัยนั้น จึงได้ซึมซับรับรู้สรรพวิชาต่างๆ มาก

จนกระทั่งอายุได้ 24 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 1 มี.ค.2446 ตรงกับแรม 8 ค่ำ เดือน 4 มีเจ้าอธิการสัง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า สุวัณโณ

หลังอุปสมบท มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติสร้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อคนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เป็นที่พึ่งศูนย์รวมใจของชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม สรรพวิชาที่ท่านมีอยู่ ท่านก็หมั่นศึกษาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเรียนรู้เพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง จากตำรับตำราเก่าๆ จนเป็นที่เลื่องลือในนามพระผู้ทรงอภิญญา

สมัยยังมีชีวิตอยู่ ขณะท่านครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหัวหมอน ญาติโยมต่างพากันหลั่งไหลมากราบนมัสการ รวมทั้งให้หลวงพ่อดำ ท่านทำพิธีปัดเป่า เสกน้ำมัน และประพรมน้ำพระพุทธมนต์

คณะศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดหลวงพ่อดำได้เล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมเข้มขลังเป็นอย่างมาก แต่ก็มิได้โอ้อวดตนเองแม้แต่น้อย จะเห็นได้ว่าสมัยยังมีชีวิตอยู่ มีผู้คนเดินทางมายังวัดเพื่อกราบไหว้บูชาท่านอย่างเนืองแน่นทุกวันมิได้ขาด ด้วยกิตติคุณด้านวาจาศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ผู้คนต่างมากราบขอพร

ในช่วงมีชีวิตไม่ได้สร้างวัตถุมงคลแต่อย่างใด ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ถ้าจะสร้างก็ขอให้ท่านสิ้นบุญก่อน

ดังนั้น การจัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญหลวงพ่อดำเป็นรุ่นแรก ในราวปี พ.ศ.2503 พ่อท่านพุ่ม วัดท่าแค เป็นประธาน จำนวนการสร้างน้อยมาก ปัจจุบันหายากยิ่ง

กล่าวสำหรับวัดหัวหมอน ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 บ้านหัวหมอน ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมคลองหัวหมอนมีน้ำไหลผ่านตลอดปี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา

วัดหัวหมอนสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ.2522 เดิมตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันประมาณ 500 เมตร เป็นที่ลุ่มจึงถูกน้ำท่วมประจำ ชาวบ้านได้ทำคันนากั้นน้ำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมอนกั้นน้ำ” เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เรียกนามวัดอย่างนั้น ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันและยังคงมีนามตามเดิม

ละสังขารด้วยโรคชราอย่างสงบ วันศุกร์ที่ 26 ก.พ.2503 สิริอายุ 80 ปี พรรษา 57

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน