วันที่ 1 พ.ค. นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง พร้อมด้วย นายกิตติ เกียรติมนตรี รองนายก อบจ.ระยอง และ เจ้าหน้าที่ อบจ.ระยอง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด ที่ทาง อบจ.ระยอง ให้สัมปทาน กับ บริษัทเกาะแก้วพิสดาร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลสัมปทานดังกล่าวและได้เข้ามาบริหารจัดการท่าเรือดังกล่าวได้ประมาณ 5 เดือน พร้อมทำตามข้อกำหนดของทางอบจ. ในการเรียกเก็บค่าใช้บริการท่าเรือ จากเรือขนส่งสินค้า, เรือโดยสารและรถทุกชนิด ที่ผ่านเข้าออกท่าเรือขนส่งสินค้า

โดยจะเก็บนักท่องเที่ยวคนละ 20 บาท ส่วนชาวบ้านต้องสแกนลายนิ้วมือเพื่อยืนยันสิทธิ์ ว่าเป็นชาวบ้านก็จะไม่เสียค่าบริการ ส่วนผู้ที่ไม่สแกนลายนิ้วมือ หรือ เป็นคนที่มาทำงานบนเกาะเสม็ด จะต้องทำบัตรผ่านเข้าออก คนละ 200 บาท ซึ่งการนำเครื่องสแกนลายนิ้วมือมาติดตั้งปิดทางเข้าออก ได้่สร้างปัญหาความล่าช้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องรอต่อคิวนาน สร้างความเบื่อหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นการเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนและไม่สมควรเพราะเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคหลัก

ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยรวมตัวกันยื่นหนังสือถึง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.ชุดพญาเสือ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกัน นายประยูร พงศ์พันธ์ หน.อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ได้ออกมาคัดค้านการเรียกเก็บค่าบริการท่าเรือ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะท่าเรือเป็นสาธารณูปโภคหลักเพียงแห่งเดียวบนเกาะเสม็ด และยังสร้างจากงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน สมควรยกเลิกการจัดเก็บดังกล่าว ในเบื้องต้นพบว่า ทาง อบจ.ระยอง ได้มีการทำข้อตกลงร่วม (MOU) กับทางอุทยานฯ เกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว โดยไม่มีการแจ้งเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ขณะที่นายปิยะ กล่าวตอบโต้ถึงกรณีดังกล่าวว่า ทาง อบจ.ระยอง ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลขั้นต้น พร้อมทั้งไม่มีการเก็บค่าบริการจากชาวบ้าน บนเกาะเสม็ดในพื้นที่ ม.4 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง แต่จะเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยว และ เรือโดยสารทุกชนิด ซึ่งยังมีผู้ประกอบการเรือโดยสารที่ไม่ยอมจ่ายค่าบริการ ซึ่งจะมีการดำเนินขั้นเด็ดขาด หากไม่จ่ายก็ห้ามจอดๆ โดยขีดเส้นตายถึงวันนี้ (1 พ.ค.) ซึ่งทางจนท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเรือเกาะเสม็ด ซึ่งก็พบว่าไม่มึปัญหา เพราะจะให้เรือที่จ่ายเงินค่าบริการแล้วเข้าเทียบท่า แต่ก็ไม่พบว่ามีเรือที่ไม่จ่ายค่าบริการเข้าเทียบท่า

นายปิยะ กล่าวต่อว่า ที่บริเวณท่าเรือมีการนำป้ายมาติดไว้ชัดเจนว่าจะไม่มีการเก็บชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง โดยให้ทางผู้ใหญ่บ้านยืนยัน ส่วนปัญหาของความล่าช้าในการเข้าคิวจ่ายเงินค่าผ่านท่าเรือของนักท่องเที่ยว เบื้องต้นแก้ปัญหาด้วยการใช้บัตรสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ และ มีการแก้ไขให้เกิดความรวดเร็วต่อไป ส่วนกรณีที่ว่าสาธารณะประโยชน์ไม่ควรเก็บ ซึ่งความจริงแล้วสาธารณะประโยชน์ทั่วไปมีการเก็บค่าบริการ เช่นเดียวกับตลาดร้อยเสา ในตลาดเพ ก็ยังมีการเก็บค่าเช่าล็อคขายของ หรือ ตลาดที่สร้างจากภาครัฐอื่น ก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเงินที่เก็บได้ทั้งหมด ทางอบจ.จะนำไปใช้ในการพัฒนาต่อไป

ต่อมาทางคณะจนท.อบจ.ระยอง ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณรงค์เดช ทัพพะจายะ ผกก.สภ.เพ พร้อมนำหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลในการจัดเก็บค่าบริการท่าเรือของ อบจ.ระยอง ที่ทำตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เพื่อประสานความร่วมมือกับทางตำรวจ หากมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการใช้บริการท่าเรือเกาะเสม็ด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยมีการแจ้งความไว้แล้วก่อนหน้าเมื่อปี พ.ศ.2558 ส่วนกรณีที่มีการอุทธรณ์ต่อที่ศาลปกครองสูงสุด ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ขณะเดียวกันบรรดาผู้ประกอบการเรือสปีดโบ๊ท ขนส่งนักเที่ยว กว่าร้อยลำ ได้รวมตัวกัน ไม่เข้าเทียบท่า หลังทาง อบจ.ระยอง กำหนดเส้นตายในวันนี้ กับการเก็บค่าบริการ ต่างก็หันไปใช้ท่าเรืออ่าวลูกโยน ซึ่งเป็นท่าเรือของอุทยานฯ ที่อยู่ใกล้กัน บางรายก็ส่งนักท่องเที่ยวลงบริเวณหน้าหาดต่างๆ

โดยนายสมบูรณ์ เทียนชัย อายุ 47 ปี เจ้าของเรือสปีดโบ๊ท 4 คิงส์ เปิดเผยว่า จากการเรียกเก็บเงินค่าบริการท่าเรือเป็นเงิน 1,000-1,500 บาท ต่อลำต่อเดือน เป็นการเรียกเก็บที่สูงไป เพราะเรือไม่ได้มีรายได้ทุกวัน จะมีเฉพาะวันหยุดเท่านั้น แต่ต้องมาเสียค่าเช่าทุกเดือน จึงต้องการให้ทางจนท.ทบทวนและเห็นใจคนทำมาหากินด้วย

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้ระบุว่า ชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์คดีไปยังศาลปกครองสูงสุด หลังจากแพ้คดีที่ศาลปกครองระยอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการเก็บค่าบริการและห้ามสัมปทานให้เอกชน แต่ศาลยังไม่ทันตัดสิน ทางอบจ.ระยองได้ดำเนินการไปหมดแล้ว ซึ่งชาวบ้านหวังเพียงคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล และพร้อมที่จะเคารพในกติกา หากแต่แต่วันนี้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะถูกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเอาเปรียบ จึงอยากขอวอน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยเหลือและตรวจสอบกรณีปัญหาดังกล่าวด้วย ก่อนที่เกาะเสม็ดเพชรเม็ดงามจะเสียหายไปมากกว่านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน