เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ ว่าที่พันตรีสมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหาร และโฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีที่มีการตรวจจับอาหารเสริมเเละผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนของยาที่ก่อให้เกิดอันตรายได้เป็นจำนวนมาก ว่า ในเรื่องนี้สภาทนายความพร้อมให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จากการบริโภคยาปลอม โดยให้ผู้เสียหายหรือทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย สามารถร้องขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาทนายความ ซึ่งมีนายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ เป็นผู้กำกับดูแล ได้ที่สภาทนายความในวันเวลาราชการ โดยให้นำพยานหลักฐานเท่าที่มีมาด้วย ทั้งนี้ จะมีทนายความสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน

ว่าที่พันตรีสมบัติ กล่าวต่อว่า กระบวนการตรวจสอบในกรณีที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่จะต้องตรวจสอบเรื่องการห้ามโฆษณา และต้องร่วมกับพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจสอบและสอบสวนว่า เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ เป็นยาปลอมหรือไม่ เเละการผลิต จำหน่าย ยาปลอม จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายด้านสุขภาพร่างกาย จนบางรายถึงแก่ความตาย หากเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย ก็ต้องดำเนินคดีต่อไป ซึ่งจะมีทั้งโทษ โทษจำคุก และโทษจำคุกและปรับ โดยเฉพาะกรณีตาย โทษจะสูงมาก อาจถึงประการชีวิต จำคุกตลอดชีวิต โดยต้องพิจารณาว่าเป็นเจตนาทำร้ายหรือเจตนาฆ่าตามกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่แล้วแต่กรณี

ว่าที่พันตรีสมบัติ กล่าวอีกว่า ผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดในลักษณะนี้จะเป็นตัวการ ก็คือผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ครอบครอง ผู้โฆษณา นอกจากนี้ ผู้อื่นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ก็อาจเป็นผู้มีส่วนร่วมรู้เห็นร่วมกระทำความผิด จะต้องร่วมรับผิดเป็นตัวการร่วมด้วย ส่วนคนที่มาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ผู้กระทำความผิดต้องร่วมรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามลำดับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พยานหลักฐานที่ต้องใช้ในการสืบพยานในชั้นศาล ผู้เสียหายต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ว่าที่พันตรีสมบัติ กล่าวว่า เมื่อมาขอความช่วยเหลือกับสภาทนายความแล้ว สภาทนายความจะให้คำปรึกษาและแนะนำว่าผู้เสียหายต้องปฏิบัติและเตรียมตัวอย่างไร การรวบรวมพยานหลักฐาน อะไร อย่างไรบ้าง ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน