เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช.ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการ “จัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี” เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดกิจกรรมโครงการ ก่อนนำไปพิจารณาปรับปรุงและขั้นตอนการดำเนินงานให้โครงการสมบูรณ์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายอาสามัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มประมง สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและประชาชนกว่า 500 คนร่วมประชุม ที่โรงแรมบรรจงบุรี จ.สุราษฏร์ธานี

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

นายจตุพร กล่าวว่า ภายหลังบังคับใช้พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 โดยมีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน บริหารผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทะเลและชายฝั่งทะเลและมิติทางกฎหมาย ซึ่งการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมเป็นเรื่องใหม่ ทช.จึงรวบรวมข้อมูลรอบด้าน

นายจตุพร กล่าวต่อว่า พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการพิจารณาแนวทางเหมาะสม เบื้องต้น แผนดำเนินการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม จะมีผลกระทบต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคิรีขันธ์ จ.ชุมพร และจ.สุราษฏร์ธานี โดยระยะแรกกำหนดพื้นที่จัดวางบริเวณเกาะพะงัน ขนาด 2×2 ตารางกิโลเมตร (กม.) อยู่ห่างจากเกาะพะงันเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์กิโลเมตรและจากหินใบประมาณ 7 ไมล์ทะเล

“เหตุผลในการเลือกบริเวณเกาะพะงัน ข้อมูลวิจัยและหน่วยงานศึกษาสำรวจพบเป็นพื้นที่เหมาะสม โดยกำหนดให้เกาะพะงันเป็นพื้นที่นำร่องในการวางปะการังเทียมจากขาแท่น จำนวน 8 แท่น แบ่งเป็นโครงสร้างเหล็กชนิด 3 ขา จำนวน 1 ขาแท่นและชนิด 4 ขา จำนวน 7 ขาแท่น วางที่ระดับความลึกประมาณ 40 เมตร (ม.) จากระดับน้ำทะเลลงต่ำสุด เมื่อวางแล้วจะยังคงมีระดับน้ำเหนือกองวัสดุในช่วงน้ำลงต่ำสุดมากกว่า 10 ม. โดยขาแท่นขนาดใหญ่จะช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยให้ท้องทะเลสมบูรณ์ ลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำต่อปะการังธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว” นายจตุพร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน