วันที่ 30 พ.ค. ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มผู้ใช้น้ำของเขื่อนปากมูลในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.พิบูลมังสาหาร อ.สิรินธร และ อ.โขงเจียม ประมาณ 150 คน นำโดยนายอำนวย หาญปราบ ชาวบ้านหัวเห่ว ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม รวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องการกำหนดมาตรการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล รวมทั้งการจับปลาในฤดูปลาวางไข่ และเรื่องเงินชดเชยเยี่ยวยากับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อกว่า 26 ปีก่อน

นายอำนวย กล่าวว่า การเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล แต่เดิมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ยึดหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ในการเปิดประตูเขื่อนในฤดูปลาวางไข่คือ เมื่อระดับน้ำแม่น้ำโขงที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม อ.โขงเจียม มีระดับน้ำสูง 95 ม.รทก. (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง)

ส่วนหลักเกณฑ์ที่ 2 คือ ระดับการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี มีอัตราการไหลเกินกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือมีระดับน้ำสูงเกิน 107 ม.รทก. (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) จึงให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิ้นเดือนกันยายน

ซึ่งการมาเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านผู้ใช้น้ำเขื่อนปากมูลใน 3 อำเภอครั้งนี้ ต้องการให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ยกเลิกการยึดระดับน้ำแม่น้ำโขง ที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม อ.โขงเจียม ที่ความสูง 95 ม.รทก. เพราะการขึ้นลงของระดับน้ำในเเม่น้ำโขงในปัจจุบันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องมาจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงของประเทศจีน จึงต้องการให้คณะอนุกรรมการฯมายึดมาตรฐานอัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง เพียงอย่างเดียว คือ เมื่ออัตราการไหลผ่านของน้ำในแม่น้ำมูลมีความเร็ว 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ให้คณะอนุกรรมการสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำการยกประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้ทันที

สำหรับข้อเรียกร้องที่ 2 กรณีของจับปลาในฤดูปลาวางไข่ ต้องการให้จังหวัดอนุญาตให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงริมแม่น้ำมูน ตั้งแต่ท้ายเขื่อนไปจนถึงปากแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จับปลาได้ เพื่อเป็นการศึกษาไปด้วยว่าปริมาณพันธุ์ปลาแต่ละชนิดมีการลดลงเพิ่มขึ้นหรือไม่ในช่วงฤดูน้ำหลากในปี 2561 โดยชาวบ้านจะหยุดการจับปลาทุกวันพระของสัปดาห์ ตามที่เคยมีข้อปฏิบัติสืบทอดกันมา ส่วนอุปกรณ์ใช้จับปลาเป็นตาข่ายจับปลาขนาด 10 คูณ 15 เซนติเมตร พร้อมขอให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เช่น สนับสนุนการเลี้ยงปลา-กุ้ง ในกระชัง หรือในบ่อดิน การแปรรูปอาหารจากปลา และส่งเสริมกลุ่มแพนำเที่ยว หากต้องเลิกอาชีพจับปลาในอนาคต

รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำยังเรียกร้องขอเงินชดเชยจากการได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล เป็นเงินครอบครัวละ 520,000 บาท หรือเป็นที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ ด้วย หากไม่ได้รับการแก้ไขความเดือดร้อน กลุ่มจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ต่อมา จ.ส.อ.เกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำส่งตัวแทนเข้าประชุมภายในศูนย์ดำรงธรรมนานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยกลุ่มชาวบ้านขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งไปยังประมงจังหวัดให้ชะลอการจับกุมชาวประมงในช่วงนี้ จนกว่าจะได้แนวการทางดำเนินงานที่ชัดเจน เพราะการห้ามชาวประมงจับปลาในฤดูน้ำแดง หรือฤดูปลาวางไข่ขัดแย้งกับการประกอบอาชีพอย่างสิ้นเชิง สำหรับการยกเลิกหลักเกณฑ์การเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดขอให้กลุ่มผู้ใช้น้ำส่งตัวแทน 6 คน เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งกำกับดูแลการบริหารจัดการการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในสัปดาห์หน้า เพราะจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งการเองได้โดยตรง

หลังการประชุมหารือกับตัวแทนชาวบ้านจนได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว จ.ส.อ.เกริกชัย ได้ลงมาชี้แจงกับชาวบ้านที่รอฟังคำตอบอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ทำให้ชาวบ้านพอใจพากันเดินทางกลับในช่วงบ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน