เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอขณะเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ร.ร.บ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กำลังกินอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้ ซึ่งเป็นเพียงเส้นขนมจีนเปล่าคลุกน้ำปลา ว่า คุณภาพอาหารกลางวันที่ดีคือต้องมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีผักทุกมื้อ มีไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง มีตับหรือเลือดสัตว์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งแล้วให้จัดผลไม้เป็นอาหารว่างอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ที่เหลือเป็นขนมที่หวานน้อย ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานท้องถิ่นจัดงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้กับเด็ก 20 บาท/คน/วัน

นักวิชาการก็ได้มีการคำนวนแล้วว่าหากเอาเงิน 20 บาทนั้นไปบริหารจัดการดีๆ ก็สามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพสำหรับเด็กได้ แต่จากการสำรวจ ติดตามคุณภาพพบว่าดีขึ้นนิดหน่อยแต่ยังไม่ถือว่าดีนัก คุณภาพยังไม่ได้ตามนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือทำให้ภาวะโภชนาการของเด็กด้อยลงไป

“เมนูขนมจีนคลุกน้ำปลา เป็นอาหารที่ไม่ได้คุณภาพแน่นอน มีแค่คาร์โบรไฮเดรตจากเส้นขนมจีน แต่ไม่ได้โปรตีน และอย่างอื่นเลย น้ำปลาที่ใส่เข้าไปน้อยนิดโปรตีนไม่พอแน่นอน แล้วถ้าใส่ไปเยอะๆ ทำให้โซเดียมเยอะ ทำให้ไตพัง ความดันโลหิตพุ่งตั้งแต่ยังเด็ก เพราะฉะนั้นเป็นอาหารที่ไม่ครบหลักเลย ทำไม่ได้เด็ดขาด ขนมจีนคลุกน้ำปลาเป็นอาหารที่เลวร้ายมาก จริงๆ ขนมจีนนั้นเด็กก็กินได้ กินกับน้ำยา แกงเขียวหวาน และต้องมีผักสด ผักลวก เป็นต้น” นายสง่า กล่าว

นายสง่า กล่าวต่อว่า วันนี้การจัดการยังไม่ดี บางโรงเรียนมีเด็กนักเรียน 100 คน ก็เท่ากับว่าจะได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 2,000 บาท ถือว่าพอ แต่ว่ามีรูปแบบการเอาเงินไปจัดการไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีเด็ก 500 คนขึ้นไป เงินค่าอาหารกลางวันเยอะจึงต้องใช้วิธีการประมูลตามระเบียบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปรากฏว่าพอประมูลแล้วก็ได้เจ้าที่ราคาถูกที่สุดประมาณ 13 บาท คุณภาพอาหารก็ไม่ได้ ที่สำคัญถามว่าเงินอีก 7 บาทไปไหนก็ไม่มีใครตอบได้

นอกจากนี้ยังพบว่าบางโรงใช้วิธีการเอาเงินก้อนนี้ให้แม่ค้าที่ตลาด ปรุงอาหารใส่กล่องโฟมมาให้เด็กกิน ถ้าคุมแม่ค้าไม่ดีคุณภาพอาหารก็จะไม่ดี เหล่านี้คือการบริหารจัดการที่ผิด ทางออกคือควรแก้ไขกฎระเบียบสตง. และสร้างสเปคของการประมูลอาหารเด็กต้องมีคุณภาพทางโภชนาการครบ ไม่ใช่เอาตัวเงินถูกๆ เป็นหลัก ซึ่งถ้าเอาสเปคอาหารกลางวันคุณภาพมาจับแล้วราคาไม่ต่ำกว่า 18 บาท/หัว/วัน ส่วนโรงเรียนควรจัดดาแม่ครัวที่รู้เรื่องโภชนาการมาทำอาหารให้เด็กกิน

นักวิชาการโภชนาการ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของประเทศไทยตอนนี้คือการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เริ่มจากเด็กที่ต้องเสริมพัฒนาการให้สูงดี สมวัย แน่นอนว่าจะพึ่งอาหารกลางวันมื้อเดียวที่โรงเรียนไม่ได้ แต่ต้องได้รับอาหารที่มีคุณภาพทุกมื้อตรงนี้ครอบครัวต้องมีส่วนร่วม และในทางกลับกันถ้าอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ แม้จะเป็นเพียงแค่มื้อเดียวต่อวันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนของเด็กด้อยกว่าเด็กที่กินอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และแน่นอนว่ากระทบกับการเจริญเติบโตของเด็กและผลกระทบ 2 อย่างนี้จะกระทบกับคุณภาพของเด็ก เมื่อเรียนไม่มีประสิทธิภาพ เติบโตไม่สมวัย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นผู้ใหญ่ที่คุณภาพด้อยลงได้

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าบางคนที่โตมาจากครอบครัวที่ไม่สามารถกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนากรครบ แต่ก็เป็นคนที่มีคุณภาพได้ นายสง่ากล่าวว่า การเติบโต สมวัยมี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ พ่อแม่เตี้ย พ่อแม่ผอม ลูกกินไม่ดีก็ผอมตาม แต่กรรมพันธุ์มีผลเพียงร้อยละ 10 ส่วน 2. การเลี้ยงดู ได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ มีผลต่อการเติบโตร้อยละ 90 ดังนั้นต้องเน้นตรงนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้อาหารที่เด็กกินเข้าไปแต่ละมื้อมีคุณภาพ สารอาหารครบ 5 หมู่ทุกมื้อ หากขาดไป อาจจะมองไม่เห็นผลกระทบระยะสั้น แต่ระยะยาวมีผลแน่นอน นี่คือโจทย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน