หน่วยงานน้ำระบุบริหารจัดการระบายน้ำเต็มที่ ยกเขื่อนแก่งกระจานสอบผ่าน ระบายน้ำลดผลกระทบปชช. อธิบดีกรมอุตุฯยันไม่มีพายุเข้าไทย วอนปชช.อย่าตระหนก เฝ้าระวังช่วงปลายส.ค.-ก.ย.มีมรสุมพาดผ่าน อาจมีฝนเพิ่ม

เขื่อนแก่งกระจานเร่งระบายน้ำล้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตินิยมวิทยา นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ทำงานประสานกัน โดยเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่ง 38 หน่วยงาน สร้างการรับรู้กับประชาชนถึงการเตรียมการรับสถานการณ์น้ำตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีการทำแผนป้องกัน เฝ้าระวัง และเผชิญเหตุในแต่ละพื้นที่

เนื่องจากก่อนหน้านั้นปริมาณน้ำสูงในพื้นที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ จึงกังวลเรื่องน้ำหลากและภัยพิบัติ จึงควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 80 เปอร์เซ็นต์ จากสถานการณ์น้ำฝน ตั้งแต่เดือนพ.ค.ถึงก.ค.ที่ผ่านมา มีมากที่สุดในภาคใต้ ส่งผลให้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก

ดังนั้นสทนช.จึงตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต มีตัวแทนจาก 9 หน่วยงานร่วมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดพื้นที่วิกฤต 2 พื้นที่คือ ภาคอีสานและภาคตะวันตกที่เขื่อนแก่งกระจาน

โดยเฝ้าระวังเขื่อน 4 แห่งคือ 1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี และ 4.เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยกำหนดหน่วยงานทั้งจากส่วนกลางหน่วยงานที่ไปดำเนินการในพื้นที่ และจังหวัดโดยมีปภ.ดูแล ซึ่งเราต้องบูรณาการปรับแผนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

รวมถึงการระบายน้ำของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในช่วงต้นฤดูฝน ที่จะมีน้ำมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีการพร่องน้ำมาตลอด แต่ในช่วงฤดูฝนนี้ยังต้องระบายน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ ประมาณ 100 แห่งในภาคอีสาน ใต้ เหนือ และตะวันตก ซึ่งทุกอ่างเก็บน้ำจะเฝ้าระวังใกล้ชิดติดตามสถานการณ์ทุกชั่วโมง ในเรื่องของการพร่องน้ำโดยใช้การบริหารจัดการเขื่อนแก่งกระจานเป็นต้นแบบ

ดังนั้นอาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบ้าง ขณะที่พื้นที่ที่ผลกระทบจากน้ำโดยภาพถ่ายดาวเทียมของจิสดา แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 887 ไร่ หรือกว่า 200 ครัวเรือน และจากนี้ในเดือนก.ย.ต้องเฝ้าระวังภาคกลาง ภาคใต้ ด้วย

นายทองเปลว กล่าวว่า การเตรียมพร้อมในส่วนที่กรมชลฯและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตดูแลความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 478 แห่ง และขนาดเล็ก 1,097 แห่ง ในการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำสูงและต่ำ โดยการระบายน้ำให้เกิดผล กระทบน้อยที่สุด โดยสนทช.สั่งการให้เตรียมพร้อมระหว่างเดือนส.ค.ถึงก.ย.นี้ ที่จะกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการ

“การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ถือว่าขณะนี้สอบผ่าน โดยการระบายน้ำเป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยระบายผ่าน 3 ช่องทาง ทั้งทางระบายน้ำล้น กาลักน้ำ และผ่านประตู่ระบายน้ำ เพื่อออกสู่เขื่อนเพชรที่จะรับน้ำต่อเพื่อไปลงแม่น้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำเข้า 737ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ล้นทางระบายน้ำล้น 60 เซนติเมตร เหลือปริมาณน้ำออก 195 ล.ม.ต่อวัน

จากนั้นต้องดูว่าน้ำที่เข้าเขื่อนเพชร มาทำหน้าที่ควบคุมน้ำและบายน้ำได้ตามที่คาดการณ์ประมาณ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้น้ำที่กระทบเข้าอำเภอบ้านลาดและอำเภอเมืองต่ำกว่าระดับ 50 เซนติเมตร” นายทองเปลว กล่าว

ซึ่งการะบายน้ำต้องคำนึงไม่ให้เกิดผลกระทบกับท้ายเขื่อนแก่งกระจานด้วย ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำยังไม่เกินคาดการณ์ที่วางแผนไว้ ยืนยันว่าท้ายเขื่อนเพชรที่เข้าสู่อำเภอเมืองอยู่ในการควบคุม จึงไม่น่ากังวลใจ ขณะที่เขื่อนน้ำอูนยังสามารถระบายได้ต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำสงครามยังสูงกว่าแม่น้ำโขง จึงต้องเฝ้าระวังต่อไป ขณะที่เขื่อนปราณบุรีปริมาณน้ำเข้าและการระบายออกยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้ยังไม่มีพายุที่จะเข้าประเทศไทย 3-4 ลูก ระหว่างวันที่ 14-16 ส.ค.นี้ ตามที่มีกระแสข่าว ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว ส่วนพายุที่จะเกิดขึ้นนั้นจะก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นเคลื่อนไปที่ทางเหนือที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ดีเปรสชันจะมุ่งหน้าสู่เกาะไหหลำ ประเทศจีน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะเกิดผลดีกับไทย เพราะจะทำให้ปริมาณฝนจะลดลง

แต่หลังจากวันที่ 20 ส.ค.นี้ ถึงเดือนก.ย.นี้จะต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากจะมีร่องมรสุมที่พาดผ่านไทยทางภาคเฉียงเหนือ กลาง จะมีฝนเพิ่มขึ้น ขณะที่เดือนก.ย.คาดการณ์ว่าจะมีพายุ 2 ลูก ที่เคลื่อนเข้าที่สปป.ลาวและเวียดนาม อาจส่งผลถึงภาคอีสานของไทยที่จะมีฝนเพิ่ม

ส่วนเดือนต.ค.จะมีร่องมรสุมส่งผลถึงภาคใต้ กลาง อีสาน เหนือ ดังนั้นต้องเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือในช่วงกลางเดือนส.ค.ถึงก.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งฝนจะหมดไปช่วงเดือนธ.ค.นี้ ที่จะมีปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในตอนบนของประเทศ ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่น่ากังวลเรื่องของภัยแล้ง

ขณะที่อธิบดีปภ. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของปภ.ได้บริหารจัดการเรื่องกำลังพล เครื่องจักรที่จะเข้าไปช่วยเหลือ กระจายอยู่ตามศูนย์ของปภ.ทั้ง 18 เขต ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีการแจ้งเตือนภัยประชาชนในชุมชนผ่านสื่อต่างๆทุกช่องทาง ทั้งที่เป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัดและมีศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแล หากส่งผลกระทบขยายวงกว้าง

รวมทั้งประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อประเมินสถานการณ์ในภาพรวม หากพบว่ามีความเสียหายต้องเตรียมสั่งการอพยพโยกย้ายประชาชนให้อยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมกับสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนโดยตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม จากปริมาณน้ำในขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 9 จังหวัดเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน