มาลัยวิจิตรดอกไม้สด ที่พระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี

พระนามจามเทวี กษัตริยาณี ผู้สร้างเมืองหริภุญชัย อยู่ในความทรงจำของตำนานเก่าแก่

เช่น ชินกาลมาลีปกกรณ์ เล่าว่า มีคนสำคัญจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ฤาษีวาสุเทพ แต่เดิมอยู่ละโว้ แล้วขึ้นมาบำเพ็ญตบะที่ดอยสุเทพ จนมาสร้างเมืองหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ.1204

จากนั้นฤาษีวาสุเทพก็อัญเชิญ พระนางจามเทวี จากเมืองละโว้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย เมื่อพ.ศ.1206 แล้วถือเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ที่ครองเมืองหริภุญชัยตั้งแต่นั้นมา

ดังจะคัดมาให้อ่านบางส่วน จากชินกาลมาลีปกรณ์ (พระรัตนปัญญาเถระ เรียบเรียบ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ แปล)

“ครั้นเมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้วได้ 1204 ปี…ในวันเพ็ญเดือน 4 ยังมีฤษีตนหนึ่งชื่อ วาสุเทพ ได้สร้างเมืองหริปุญชัย (นครลำพูน)

ครั้งรุ่งขึ้นปีที่ 2 จากปีที่สร้างเมืองหริปุญชัยแล้วนั้น พระนามจัมมทเวีมาจากเมืองลวปุระ ครองราชสมบัติในเมืองหริปุญชัย

ต่อจากนั้น พระเจ้าอาทิตย์ได้ทรงอภิเษกในเมืองหริปุญชัยเมื่อปีจุลศักราช 490 ต่อมาถึงจุลศักราชประมาณ 425 พระธาตุเจดีย์หลวงผุดขึ้นในเมืองหริปุญชัย”

มาลัยวิจิตรดอกไม้สด

ที่ยกมาให้อ่านกันนี้คือ ตำนาน แน่นอนว่า ตำนานคือ นิทานบอกเล่าคำเก่าแก่ อาจจะไม่จริงไปทั้งหมด ที่จะต้องถอดรหัสสัญลักษณ์ออกมา เพื่อหาสาระของเรื่อง ดังที่ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง แคว้นหริภุญชัย ในหนังสือล้านนาประเทศ (พิมพ์โดย สนพ.มติชน)ไว้ตอนหนึ่งว่า

“การเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมีการขยายที่ทำกินลงสู่ที่ราบลุ่มห่างจากดอยสุเทพออกมาและสร้างเมืองหริภุญชัยหรือลำพูนขึ้นเป็นเมืองสำคัญในพุทธศตวรรษที่ 13 ระยะนี้ได้มีการติดต่อทั้งในทางสังคมและวัฒนธรรมกับบ้านเมืองในภาคกลาง โดยเฉพาะกับเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองที่เจริญที่สุดในขณะนั้น

การเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ เมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวี แสเงให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายประชากรและการแพร่วัฒนธรรมของบ้านเมืองที่รับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามายังที่ราบลุ่มเชียงใหม่ หริภุญชัยกลายเป็นรัฐที่รับวัฒนธรรมอินเดีย (Indianized State) แห่งแรกในภาคเหนือ

พระพุทธศาสนาคติหินยานเข้ามีความสำคัญแทนที่ระบบความเชื่อเดิม มีการสร้างวัดวาอารามและการสอนศาสนาโดยพระสงฆ์ที่มาจากภาคกลาง มีนักปราชญ์ นักวิชาการ ช่างและผู้ชำนาญการต่างๆ เกิดขึ้น การปกครองมีระเบียบแบบแผน มีการจัดประชาชนให้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า มีสถาบันกษัตริย์ และการสืบสันตติวงศ์ที่แน่นอน มีการขยายเมืองไปยังเขตจังหวัดลำปาง และพรวมชาวพื้นเมืองเผ่าต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครอง”

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนากับพระนางจามเทวีในปัจจุบันนี้ มีผู้คนศรัทธาพระนางจามเทวีในประเด็นดังกล่าว จากแรงศรัทธาดังกล่าว ก่อให้เกิดงานศิลปะร้อยมาลัยที่วิจิตรบรรจง เพราะเท่าที่สังเกตที่ผ่านมา เวลามีผู้คนไปกราบไหว้ที่พระราชานุสาวรีย์ พระนางจามเทวีที่เมืองลำพูนนั้น เป็นพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกมะลิเท่านั้นแล้วห้อยบนพระกร

ล่าสุดนี้มีพวงมาลัยที่ร้อยอย่างสวยงาม มีสายอุบะยาวลงจรดฐานพระราชานุสาวรีย์ได้อย่างสัดส่วนพอดีกับพระราชานุสาวรีย์

ผู้ที่มาถวายคือ เกศนี จิรวัฒน์วงศ์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มถวายพวงมาลัยนี้ตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว โดยถวายทุกวันพระ คือนอกจากความศรัทธาในพระนางจามเทวีที่ทรงค้ำจุนพระพุทธศาสนาแล้ว เกศนียังต้องการเปิดพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นออกมาแสดงฝีมือศิลปะในการร้อยพวงมาลัย

เกศนี จิรวัฒน์วงศ์ – พิสิทธ์ ไพโรจน์

“การบูชาด้วยมาลามาลัยงดงามประณีตพิเศษเป็นที่สุด ถวายพระนางจามเทวี ผ่านความสร้างสรรค์ ผ่านมือ ผ่านหัวใจของช่างดอกไม้ เป็นสิ่งที่ปรารถนาที่สุดอยู่เเล้ว การน้อมถวายต่อเนื่องมากว่า1 ปี สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์เเละมีความสุขทุกวันพระ คือการได้เห็น ศิลปินดอกไม้ รังสรรค์งานวิจิตร ศิลปินต้องการพื้นที่ ต้องการเวที เละเเรงสนับสนุน”

กว่าจะให้คนในพื้นถิ่นได้แสดงฝีมือร้อยมาลัยนั้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่สองคนนี้ก่อนคือ วสุกิจ พักเรือนดี และ ศุภชัย ชานนท์ ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์พวงมาลัยดังกล่าว ที่นำมาให้เกศนีถวาย

และจุดประกายให้คนในท้องถิ่นนำมาสานต่อ อย่าง พิสิทธ์ ไพโรจน์ ชาวลำพูน ซึ่งเกศนีเห็นว่าพิสิทธิ์เป็นคนที่มีฝีมือมีของอยู่ในตัว และมีจินตนการ จึงให้รับทำหน้าที่ประดิษฐ์พวงมาลัยมาถวายพระราชานุสาวรีย์ทุกวันพระ จนทุกวันพระมีคนมาสังเกตว่า วันนี้พวงมาลัยจะมีความสวยงามวิจิตรบรรจงขนาดไหน พิสิทธิ์เล่าว่า

ในช่วงแรกๆ ก็มีคนที่เข้ามาไหว้ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมอยู่ๆ มีผู้นำพวงมาลัยแบบนี้มาถวายพระนางจามเทวี ร้านขายดอกไม้แถวนั้นก็จะรู้สึกไม่ค่อยพอใจ หลังจากที่น้าตุ๊ก (เกศนี) ถวายเสร็จไม่กี่ชั่วโมง คนในร้านดอกไม้ก็จะมานำลงทันที

แต่ทั้งน้าตุ๊กและเอ (พิสิทธิ์) ก็มีความคิดตรงกันคือ ได้ถวายแล้ว ถือว่าใจเราสุขแล้ว ไม่ต้องสนใจว่าหลังจากนั้นใครจะเอาไปทำอะไรอีก เราใช้เวลาหลายเดือน ร้านดอกไม้แถวนั้นจึงจะเข้าใจว่า การถวายพวงมาลัยของน้าตุ๊กเกิดจากความศรัทธา ก็จะให้อยู่ที่พระกรของพระแม่จามเทวี ได้ในเวลายาวขึ้น

หลังจากนั้น ผู้คนละแวกนั้นก็จะเฝ้ารอว่าทุกวันพระจะเตรียมมารอเพื่อร่วมถวายพร้อมกัน รวมถึงนายตำรวจที่อยู่บริเวณนั้น มีความศรัทธาพระนางจามเทวีมาก มาขอทุกครั้งหลังจากที่เราถวาย ไปบูชาต่อที่รูปเคารพที่บ้าน ทำให้คนแถวนั้นเริ่มคุ้นเคย พวงมาลัยก็จะอยู่ที่ข้อพระกรได้ยาวนานขึ้น”

จนผ่านมา 1 ปีกว่า ที่พิสิทธิ์ประดิษฐ์พวงมาลัยถวายพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ซึ่งพวงมาลัยแต่ละพวงนั้น จะพยายามทำให้ไม่เหมือนกัน ทั้งชนิดของดอกไม้ สีต่างๆ จะให้ให้มีความแตกต่างแล้วแต่สถานการณ์ในช่วงนั้นว่าในเดือนนั้นตรงกับวันสำคัญอะไร เป็นต้น

สำหรับการเตรียมงานพวงมาลัยนั้น พิสิทธิ์บอกว่า ต้องใช้เวลามากพอสมควร 3-4 วัน ตั้งแต่คิด หาซื้อดอกไม้ กรองดอกไม้ ร้อยดอกไม้ เพื่อให้พวงมาลัยมีความสวยงามอลังการ หลังจากที่ถวายพวงมาลัยในวันพระไปแล้ว พอวันรุ่งขึ้นพิสิทธิ์ จะต้องรีบคิดแบบทันทีเลย

“เฉพาะเวลาที่ร้อยนั้น ใช้เวลา 2 วัน ยังไม่รวมถึงการออกแบบ แต่ถ้าเป็นพวงพิเศษก็ใช้เวลาประมาณ 3 วัน คือวันไหนนึกแบบได้ก็ร่างแบบไว้ก่อน แต่ยวงพวงวาดแล้วพอลงมือทำแล้วก็มีการพลิกแพลงบ้างก็มี เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ พอทำแล้วลองประกอบดูแล้วไม่โอเค ก็รื้ออก แก้งานใหม่ บางทีจึงต้องทำตุ้งติ้งส่วนเกินไว้เผื่อใส่ แต่ถ้ารู้สึกไม่สวยก็ไม่ใส่ หาตัวอื่นมาใส่แทน คือต้องรู้สึกว่าเราชอบ เราชา แล้วคนอื่นก็จะชอบและใช่กับเรา”

แล้วก่อนที่จะขึ้นแบบนั้น จะดุว่าวันนี้ที่จะร้อยมาลัยมีความอย่างไร เกี่ยวเนื่องกับอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เราเลือกจากสี อย่างบางครั้งก็ใช้ความรู้สึกเข้ามาออกแบบว่าครั้วนี้จะทำสีฟ้า หรือ ถ้าตรงช่วงงานลอยกระทงก็เกี่ยวกับน้ำ ก็ออกเป็น มาลัยสายน้ำคือชายอุบะร้อยด้วยดอกพุดเรียงต่อกันเหมือนสายน้ำ ได้ความคิดจากกระทงที่ลอยเป็นสายๆ

บางทีก็ออกแบบพวงมาลัยสีม่วงจากแนวคิดบวกกับจินตนาการที่ว่าพระนางจามเทวี เป็นผู้หญิงแกร่ง จึงคิดว่าดอกไม้อะไรที่มีความแกร่ง ก็นึกถึงดอกบานไม่รู้โรย ทุกชิ้นส่วนของดอกไม้ชนิดนี้ นำมาทำได้หลายรูปแบบมาก แยกดอกเป็นชั้นๆ แยกก้าน แยกใบเลี้ยงดอก ที่ภาษาคนทำดอกไม้เรียกว่า การกรอง คัดเลือกทุกชิ้นส่วน คัดขนาด แล้วสามารถมาประกอบเป็นมาลัยได้หมด สีเดียวทั้งพวง

ส่วนเทคนิคต่างๆ ที่จะทำพวงมาลัยขึ้นมาแต่ละพวง ต้องมีการวางแผนอย่างดี เช่น น้ำหนัก, รูปทรง หลังจากที่แขวนอยู่ที่ข้อพระกรแล้ว จะออกมาบิดเบี้ยวหรือไม่ จะหลุดล่วงหรือไม่ เฉพาะช่วงอุบะ จะมีน้ำหนักเกือบ 5 ขีด ต้องใช้เทคนิคการมัดของด้ายแต่ละชนิด การมัดให้แน่น ทดลองยก ยกแล้วห้ามเสียทรง ห้ามฟีบ ไม่ลู่ล่วงลงมา”

เป็นความคิดของคนเล็กๆ ที่คิดอยากจะทำ ภูมิใจ ปลื้มใจ ทำแล้วจบ อยากถวายของสวยที่เกิดจากพลังศรัทธาทั้งผู้ถวายและผู้สร้างสรรค์งาน

+++++++++++++++

คนฝูงดี”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน