อัยการชี้เจ้าของตลาดศรีเมืองทองทำลูกระนาดเหล็กเเหลมกันรถวิ่งย้อนศรในตลาดเสี่ยงใช้สิทธิไม่ชอบตามกฎหมาย เผยหากผู้เสียหายมีส่วนกระทำผิด มีสิทธิได้ค่าทดเเทนตามพฤติการณ์

กรณีที่โลกโซเชียลได้มีการแชร์เนินหลังเต่า ที่มีเหล็กออกมาแทงล้อรถ สำหรับผู้ที่ขับรถย้อนศร เพื่อเข้าไปในตลาดศรีเมืองทอง ถ.เหล่านาดี เขตเทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดยเจ้าของตลาดติดตั้งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับมีป้ายและสัญญาณไฟเตือนไม่ให้ ขับรถย้อนศร จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่า สามารถกระทำได้หรือไม่นั้น อ่านข่าว ไม่พอใจก็ไปที่อื่น ! ทนายชี้ ติดเหล็กทิ่มล้อ แก้เผ็ดพวกย้อนศรได้ ไม่ผิดกฎหมาย!

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรามคำแหง และวิชานิติกรรมและสัญญา ที่มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในเรื่องนี้บางคนอาจจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่เจ้าของตลาดสามารถทำได้ เพราะเป็นการทำเพื่อจัดระเบียบการจราจรในตลาดซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคล

แต่ในเรื่องนี้หากพิจารณาจากกฎหมายแล้ว มีข้อที่ผู้บริหารตลาดต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน คือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 กำหนดว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ถือว่าการใช้สิทธินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ได้แก่ การใช้สิทธิที่เกินความจำเป็นหรือเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายรับรอง หรือการใช้สิทธิที่มีเจตนาหรือจงใจแกล้ง

โดยมุ่งประสงค์หรือเล็งเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้อื่น เช่น เจ้าของที่ดินนำแผ่นเหล็กเจาะรูเล็กๆ ปิดกั้นทางระบายน้ำโสโครก ที่จะไหลระบายมาจากบ้านของที่ดินข้างเคียง จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านของที่ดินข้างเคียง ถึงแม้จะเป็นการปิดกั้นทางระบายน้ำที่กระทำลงในที่ดินของตนเอง ก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ ซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการกระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 421 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2529)

ดังนั้น การทำลูกระนาดเป็นรางเหล็กแหลม แม้จะกระทำลงในที่ดินของตนเองเพื่อจัดระเบียบการจราจรก็ตาม แต่หากมีรถยนต์วิ่งมาทับรางเหล็กแหลมจนได้รับความเสียหาย ก็อาจเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 421 ที่กล่าวมาข้างต้นที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายที่เป็นผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย คือเห็นป้ายห้ามเลี้ยว แล้วยังขับรถวิ่งย้อนศรเข้ามาในตลาด เป็นเหตุให้รถวิ่งทับรางเหล็กแหลมจนได้รับความเสียหาย จำนวนค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่ผู้เสียหายจะได้รับ จะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ว่าระหว่างผู้บริหารตลาดกับผู้ขับรถยนต์ ใครมีส่วนผิดในการก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยกว่ากันเพียงใด

ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 และ มาตรา 442 ที่กำหนดไว้ว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนทำความผิดในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย คือทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีส่วนผิดในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วยกันทั้งคู่ การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่จะชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยกว่ากันเพียงใด เช่น จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อข้ามทางรถไฟ

ในขณะที่มีรถไฟแล่นผ่านจึงถูกรถไฟเฉี่ยวชนด้านหน้ารถยนต์สียหายเล็กน้อย แต่เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งห้อยเท้าอยู่ริมประตูตู้รถไฟถูกรถยนต์ของจำเลยชนได้รับอันตรายสาหัส ถึงกับขาหักทั้งสองข้าง ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย จึงควรลดค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาลงบ้าง (ฎีกาที่ 4109/2539)

และถ้าต่างฝ่ายต่างมีส่วนผิดก่อให้เกิดความเสียหายเท่าๆ กัน ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็ย่อมจะเรียกค่าเสียหายจากกันไม่ได้ เช่น บริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุต่างเป็นทางเอกตัดกัน ไม่มีป้ายสัญญาณจราจร ผู้ขับรถทั้ง 2 ทางจึงต้องหยุดรอให้รถที่อยู่ในทางร่วมทางแยกผ่านไปก่อน แต่พฤติการณ์ที่รถทั้ง 2 คันชนกัน แสดงว่าต่างแล่นมาถึงสี่แยกในเวลาไล่เลี่ยกัน กรณีเช่นนี้หากทั้ง 2 ฝ่ายใช้ความระมัดระวังดูให้ปลอดภัยก่อนเข้าสี่แยก ก็สามารถหยุดให้รถอีกฝ่ายหนึ่งแล่นผ่านสี่แยกไปได้โดยไม่เกิดเหตุชนกันขึ้น

การที่รถทั้ง 2 คันเกิดชนกันเช่นนี้เห็นได้ว่าเกิดจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีส่วนประมาทไม่ใช้ความระมัดระวังดูให้ปลอดภัยก่อนขับรถเข้าสู่สี่แยก และเป็นความประมาทที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าเสียหายของรถทั้ง 2 คันจึงต่างต้องตกเป็นพับกันไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2542)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่าน วิธีแก้เผ็ด พวกชอบย้อนศร แชร์สนั่น เนินชะลอความเร็ว สุดอันตราย!
อ่าน ตลาดดังขอนแก่น แจงใช้เหล็กแทงล้อ จัดระเบียบจราจร ห้ามย้อนศร ! แก้ปัญหารถติดวุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน