ทช.พบซาก พะยูนยักษ์เกยตื้น ที่เกาะลิบง จ.ตรัง สลดช่องท้องโดนของมีคม

พะยูนยักษ์เกยตื้น / วันที่ 30 ส.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พื้นที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ว่าพบซากพะยูนตาย เกยตื้นอยู่บริเวณหาดอ่าวหน้าบ้าน ม.4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าหมูเกาะลิบง เบื้องต้นพบว่าเป็นซากพะยูน เพศเมีย ขนาดความยาวประมาณ 250 เซนติเมตร รอบลำตัวประมาณ 170 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 200 กก. สภาพซากค่อนข้างเน่า บริเวณลำคอ และ ช่องท้องตั้งแต่ช่องเพศ ถึงโคนหาง พบบาดแผลขนาดใหญ่

ซากพะยูน

สันนิษฐานเบื้องต้นน่าจะเกิดจากของมีคม ลำไส้หลุดออกมาบางส่วน จากนั้นเจ้าหน้าที่นำซากพะยูนตัวดังกล่าว ไปยัง สภ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ก่อนนำส่งไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุการตายต่อไป

นายจตุพร กล่าวว่า สาเหตุการลดจำนวนลงของพะยูน 90% มาจากการติดอวนและเครื่องมือประมงชาวบ้าน และยังพบว่ามีบางส่วนที่มีการล่าพะยูนจากความเชื่อผิดๆ เช่น กระดูกพะยูน นำไปทำยาโด๊ปและรักษาโรคมะเร็ง เขี้ยวพะยูน นำไปเป็นเครื่องรางของขลัง เนื้อพะยูน นำไปทำเป็นอาหารราคากิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูอนุรักษ์

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ทช. ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นเกาะลิบง และเกาะมุก จ.ตรัง ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญทำให้จำนวนพะยูนเพิ่มมากขึ้น 5-10 % เพื่อลดอัตราการตายของพะยูน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากติดอวนและเครื่องมือประมง ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะช่วยกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชากรของพะยูนไม่สูญหายไปจากท้องทะเลจังหวัดตรัง

อธิบดี ทช. กล่าวอีกว่า พะยูนจะมีอายุประมาณ 70 ปี ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 13-18 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และออกทุก 3 ปีต่อพะยูน 1 ตัว หากไม่ถูกเครื่องมือประมงทำลายจะเฉลี่ยออกลูกประมาณตัวละ 10 ตัว ในช่วงตลอดอายุ 70 ปีทำให้จำนวนประชากรพะยูนมีไม่มากนัก ดังนั้น การสำรวจประชากรพะยูนให้ทราบจำนวนที่แท้จริงจะช่วยหาแนวทางอนุรักษ์ กรม ทช. ได้ออกสำรวจประชากรพะยูนในประเทศไทยเพื่อหาจำนวนพะยูนที่แท้จริง เนื่องจากสถานการณ์พะยูนเริ่มน่าเป็นห่วงหลังประชากรเหลือน้อยลงต่อเนื่อง

นำซากส่งตรวจพิสูจน์

“อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน

พร้อมกันนี้ ขอฝากเน้นย้ำให้ชาวประมงในพื้นที่งดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล เช่น อวนลอยและอวนตาถี่ชนิดต่างๆ หรือโป๊ะ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องทำก็ขอให้หมั่นตรวจตราดูแลเครื่องมือประมงอย่างสม่ำเสมอ หากพบพะยูนติดอยู่ต้องรีบปล่อยทันที

นอกจากนี้ ทุกคนควรให้ความสำคัญในเรื่องของการติดตามข่าวสารการ และไม่สนับสนุนการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการไม่สร้างมลพิษให้เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ส่งผลกระทบที่ทำลายต่อระบบนิเวศทางทะเล ก็จะเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ที่สำคัญอีกทางหนึ่งเช่นกัน “นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน