ทช.ร่วมถก แก้ปัญหาไอยูยู เร่งปลดล็อกใบเหลืองอียู

แก้ปัญหาไอยูยู – เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่โรงแรมอนันตรา รีเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ มีการจัดประชุมเชิงสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 มี พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน

โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยปฏิบัติการหลัก และหน่วยปฏิบัติการร่วม ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมผู้บริหาร ศรชล.เขตต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง

ถกแก้ไอยูยู

พล.ร.อ.พิเชฐ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใน ศรชล. ได้รับทราบถึงผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2561 และร่วมพิจารณาร่างนโยบาย ผอ.ศรชล. และแผนปฏิบัติราชการ ศรชล.ประจำปี 2562 ในปัจจุบัน ศรชล.อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้าง เพื่อยกระดับเป็นศูนย์อำนวยการ

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยโครงสร้างใหม่ ศรชล.จะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศรชล. และ ผบ.ทร.เป็น รอง ผอ.ศรชล. ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยงานรักษากฎหมายในทะเล มีอำนาจสืบสวน จับกุมและสอบสวนการกระทำผิดทางทะเล ทั้งนี้คาดว่า ศรชล. จะสามารถปรับโครงสร้างใหม่ ได้ในช่วงปีงบประมาณ 2562

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็น 1 ใน 6 หน่วยงานหลัก ที่ปฏิบัติภารกิจภายใต้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มีอำนาจในการกำหนดมาตรการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสู่สาธารณชนทุกระดับชั้น

ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมายไร้การควบคุมนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้กรมฯ ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม จึงจัดเจ้าหน้าที่และเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสนับสนุนการปฏิบัติงานในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการโดยเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10

ขณะที่ นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล กล่าวเสริมว่า กรมฯ ได้จัดทำโครงการป้องกันและปราบปรามรองรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ศปมผ. และศรชล.

โดยจัดสรรงบประมาณให้สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ออกตรวจตราเฝ้าระวังป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ในพื้นที่รับผิดชอบเป็นประจำทุกเดือน โดยมีอัตรากำลังข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จำนวน 198 นาย และเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 55 ลำ เข้าร่วมปฏิบัติงาน

รองอธิบดี ทช. กล่าวอีกว่า ผลการปฏิบัติงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึง 31 กรกฎาคม 2561 เป็นผลการตรวจเรือประมง จำนวน 2,891 ลำ, ผลการตรวจแรงงานประมง จำนวน 32,215 คน และผลการจับกุมตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2560 จำนวน 57 คดี ส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องมือประมงประเภทลอบพับ ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ต้องหา และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ ให้ไทยได้รับการปลดล็อคใบเหลือง จากอียูในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน