เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 22 ธันวาคมนี้ เป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปีหากไม่คำนึงถึงผลจากชั้นบรรยากาศของโลก ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า แต่ละวันดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกในตำแหน่งต่างกันไป ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงกลางวันจะสั้นและช่วงกลางคืนจะยาวนานที่สุดในรอบปี

ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:37 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:56 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที เท่านั้น เราจึงรู้สึกว่าท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
002-1

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ทำให้โลกมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันตลอดปี ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่มีระยะใกล้บ้างไกลบ้างนั้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของใกล้-ไกล ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจึงมีผลต่อการเกิดฤดูกาลน้อยมาก แต่การที่แกนของโลกเอียง 23.5องศา เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้รับแสงอาทิตย์ทั้งในแง่ความเข้มแสงและระยะเวลาไม่เท่ากัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ใน 1 ปี เกิดฤดูกาลต่าง ๆ
เนื่องจากแกนโลกไม่ได้ตั้งตรง แต่เอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้
1.วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 21 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

2.วันครีษมายัน (ครี-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย.หรือ 22 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

 

003

3.วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

4.วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค.หรือ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน