เลขาธิการสปสช.ยัน ประชาชนไม่ต้องจ่าย ค่าบัตรทอง ชี้เป็นเพียงแนวคิด ก.คลัง

ค่าบัตรทอง – กรณีมีกระแสข่าวกรมบัญชีกลาง มีแนวคิดจะลดสิทธิประชาชนผู้ถือบัตรทอง โดยผู้มีรายได้น้อยยังได้รับสิทธิตามเดิม แต่ให้ประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี ร่วมจ่าย 10-20 % เพื่อแบ่งเบาภาระเงินงบประมาณของประเทศในแต่ละปี ซึ่งมีฝ่ายที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของอธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังไม่เป็นทางการเพื่อเสริมสิทธิผู้มีรายได้น้อย เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมาคุยกัน โดยรัฐบาลเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องมองประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมให้มากที่สุด

โดยการที่จะเสนอเป็นนโยบายนั้นตามขั้นตอนต้องมีการเสนอเรื่องเข้ามาที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งเป็นกรรมการหลักในการพิจารณาว่าจะมีนโยบายในเรื่องนี้ต่ออย่างไร ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 มีเรื่องร่วมจ่ายอยู่ ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีการ เช่น การร่วมจ่ายหน้างานก่อนป่วย การร่วมจ่ายหลังป่วย

ค่าบัตรทอง

บัตรทอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดดังกล่าว นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ทุกแนวคิดที่เสนอเข้ามามีความเป็นไปได้หมด การพิจารณาจะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิของประชาชนโดยรวม ดังนั้นคิดว่าโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการร่วมจ่ายตามแนวคิดดังกล่าวจริงๆ จะมีผลกระทบอย่างไรต่อประชาชนหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า วิธีนี้คิดว่าเป็นวิธีที่ได้ผลน้อยที่สุด คิดว่ามีผลกระทบแน่นอน ซึ่งมีตัวอย่างแล้วในต่างประเทศ เรื่องการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชนบางกลุ่ม เพราะมีความกังวล ไม่มั่นใจเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวและค่าใช้จ่ายเท่าไร

เพราะแต่ละโรคก็มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง หากบางโรคมีค่าใช้จ่ายเป็นล้านบาท หากประชาชนต้องร่วมจ่าย 10 % ต้องจ่ายถึง 1 แสนบาท ก็จะทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการรักษาแม้ว่าจำเป็น ดังนั้นไม่เพียงแต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังส่งผลต่อโรคและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศที่จะมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน