ศาลออกหมายจับ อดีต ผกก.เมืองน้ำดำ เบี้ยวนัดฟังคำพิพากษาคดี ฆ่าแขวนคอ โจ๋17 ปรับนายประกัน 1 ล้านบาท ชี้มีพฤติการณ์หลบหนี นัดอ่านฎีกาอีกครั้ง 11 ต.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 6 ก.ย. ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฆ่าแขวนคอ หมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54 ปี, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 49 ปี, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี, พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีต รอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดมียศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2547 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 17 ปีเศษ ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจากสภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนเสียชีวิต จากนั้นจึงร่วมกันปิดบังเหตุการตาย โดยย้ายศพผู้ตายจากท้องที่เกิดเหตุไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน ม.5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด โดยจำเลยที่ 4-6 ได้ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 55 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

ต่อมาอัยการโจทก์และโจทก์ร่วม และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ 4 ปาก สอดคล้องเชื่อมโยงกัน แม้จำเลยจะนำสืบอ้างว่าได้ปล่อยตัวผู้ตายไปแล้ว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีอื่น และถูกคุมตัวอยู่ในห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ให้การว่า พบเห็นจำเลยที่ 1-3 พาผู้ตายออกไปจากห้องขังในช่วงเย็นวันเกิดเหตุ และไม่พบผู้ตายอีกเลย สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นที่พบเห็นจำเลยที่ 2 พาผู้ตายขึ้นไปห้องสืบสวน

นอกจากนี้ พยานปากที่เคยถูกจำเลยที่ 5 ข่มขู่เพื่อให้การเป็นประโยชน์ต่อพวกจำเลยนั้น ได้ให้การใหม่กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบ (บก.ป.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า จำเลยที่ 1-3 พาผู้ตายออกมาจากห้องขังไปยังห้องสืบสวนบนชั้น 2 ของสภ.เมืองกาฬสินธุ์ และสามารถชี้ตัวยืนยันจำเลยที่ 1-3 ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ประกอบกับพยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่า น่าจะเบิกความไปตามจริง และสอดคล้องกับที่ญาติได้รับโทรศัพท์จากผู้ตายให้มารับกลับบ้าน แต่เมื่อไปถึงกลับไม่พบผู้ตายแต่อย่างใด และเมื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยพบว่าจำเลยที่ 1-3 ได้โทรศัพท์ไปยังบ้านในบ้านหลังหนึ่งในจ.ร้อยเอ็ด ซึ่งใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตาย และผู้ตายยังเคยเป็นสายลับให้กับจำเลยอื่นในคดียาเสพติด

ซึ่งอาจจะกุมความลับของจำเลยไว้ ส่วนจำเลยที่ 4 แม้ไม่ได้มีหน้าที่ในการทำคดีดังกล่าว แต่กลับยื่นปล่อยชั่วคราวผู้ตาย ถือเป็นการฝ่าฝืนนโยบาย และมีการหลอกลวงให้คนไปรับญาติผู้ตาย และหลอกลวงว่า ผู้ตายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว จำเลยที่ 4 จึงมีเจตนาร่วมกันวางแผนให้ผู้ตายได้รับการปล่อยตัว แต่จริงๆแล้วผู้ตายกลับไม่ได้รับการปล่อยตัวไป บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1-3 วางแผนฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และปิดบังซ่อนเร้นสาเหตุการตายด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย

ส่วนจำเลยที่ 5 – 6 แม้พยานโจทก์อ้างว่าเห็นจำเลยที่ 5-6 อยู่ในการสอบปากคำด้วย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5-6 ได้ร่วมกันวางแผนกับจำเลยที่ 1-4 ฆ่าผู้ตาย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่จำเลยที่ 5 – 6 ได้มีการข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จช่วยเหลือจำเลยที่ 1-4 ไม่ให้ต้องได้รับโทษทางอาญา การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตายเสียชีวิตแล้ว

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี และพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต

ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่า หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี อัยการโจทก์ โจทก์ร่วมยื่น และจำเลยต่างยื่นฎีกา

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่า พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ที่ได้รับการประกันตัว และนายประกันไม่มาศาล ศาลได้สอบถามทนายความแล้ว ทราบว่า ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยที่ 5 ได้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับ ปรับนายประกันเต็มตามจำนวน 1 ล้านบาท และนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้งวันที่ 11 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ มีบรรดาญาติ ผู้เสียชีวิต และญาติฝ่ายจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาพอสมควร แต่เมื่อศาลมีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาฎีกา ออกไปเป็นวันที่ 11 ต.ค.นี้ ทุกคนต่างแยกย้ายกันเดินทางกลับไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน