เลขาธิการ สกศ.แจงปม อความเรียมหอยสังข์ จ.สงขลา หลังถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งนักวิชาการทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ได้โกง ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมพิสูจน์ตัวเอง

อควาเรียมหอยสังข์ จ.สงขลา

อควาเรียมหอยสังข์ / เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวถึงกรณีมติโอนย้ายข้าราชการระดับสูงของศธ. ไปดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ในสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ตนเข้าเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ปลายปี 2554 ขณะที่การก่อสร้างอควาเรียม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 อ่านข่าว ชง ‘บิ๊กตู่’ ตั้งคกก.สอบวินัยร้ายแรง ขรก.ระดับสูงเอี่ยวโกง ‘อควาเรียมหอยสังข์’

ก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น 2 เรื่อง ปัญหาแรกคือ งบประมาณ ไม่เพียงพอในการก่อสร้างตามแบบรูปรายการที่ออกแบบไว้ ซึ่งหากจะให้แล้วเสร็จตามแบบรูปรายการ ต้องใช้งบประมาณ จำนวน 1,500 ล้านบาท

ขณะที่ได้รับงบฯ จำนวน 839 ล้านบาท ดังนั้นช่วงปี 2551 จึงต้องปรับลดแบบรูปรายการให้พอดีกับวงเงินที่ได้รับ ปัญหาที่ 2 ความไม่สมบูรณ์ของแบบรูปรายการ ทำให้เมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้าง มีปัญหา และต้องแก้ไข ซึ่งครั้งใหญ่ๆ 2 ครั้ง คือปี 2553 แก้ไขเพราะเทคโนโลยีของระบบไม่สอดคล้องกับเนื้องาน และช่วงต้นปี 2554 ก่อนตนจะมารับตำแหน่ง เนื่องจากแบบรูปรายการทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงสร้างขัดแย้ง คลาดเคลื่อนและฐานรากทับซ้อน ซึ่งการแก้ครั้งนั้นขยายเวลาออกไปอีก 805 วัน

ทั้งนี้ เมื่อมาถึงช่วงที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง ได้แก้ไขสัญญา 4 ครั้ง เป็นการแก้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 ครั้งคือ ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 5 โดยครั้งที่ 3 เป็นการขยายเวลาตามมติครม. เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2556

ครั้งที่ 4 เป็นการปรับเปลี่ยนงวดงาน เช่น สัญญาเดิม กำหนดให้ปิดหลังคาอควาเรียมก่อน แต่เนื่องจากต้องนำอุปกรณ์ขนาดใหญ่เข้าไปในอควาเรียม ซึ่งหากต้องทำตามงวดงานที่กำหนดไว้เดิม จะต้องรื้อหลังคาออก ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุให้ต้องแก้ไขงวดงานในครั้งที่ 4 เพื่อนำอุปกรณ์ใหญ่ใส่เข้าไปก่อน

เลขาฯ สกศ. กล่าวต่อว่า ครั้งที่ 5 เป็นการขยายเวลาตามมติครม. เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อปี 2557 และครั้งที่ 6 เป็นการปรับแก้เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของแบบรูปรายการ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามสัญญาเดิม ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่ง ซึ่งมีการแก้ไขกว่า 100 รายการ

เหตุผลที่แก้ ดังนี้บางรายการไม่สามารถติดตั้งได้ ซึ่งมีมากกว่า 40 รายการ เช่น งานให้ตกแต่งผนังที่ใดที่หนึ่ง แต่ในสัญญาไม่มีการก่อสร้างผนังในพื้นที่ดังกล่าว

รายการก่อสร้างในแบบแปลนแต่ไม่มีรายละเอียดประกอบการทำงาน เช่นงานตกแต่งฝ้าในห้องต่างๆ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดวัสดุและรูปแบบในการติดตั้ง เป็นงานที่อยู่นอกพื้นที่การก่อสร้าง เช่น ให้ติดตั้งงานระบบไฟฟ้าบริเวณสะพานชมวิว แต่ในแบบการก่อสร้าง ไม่มีการสร้างสะพานชมวิว บางรายการหากติดตั้งแล้วอาจจะเสียหายในอนาคต เช่น ปรับลดป้ายทางวิชาการออก อาทิ ชื่อสัตว์น้ำ เพราะออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2550 และยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อสัตว์ประเภทใดเข้ามาบ้าง

“ยืนยันว่าผมไม่ได้โกงแม้แต่บาทเดียว การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และไม่เคยแอบอ้างผู้ใหญ่ พร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเอง การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบราชการ การตัดสินใจอนุมัติเรื่องต่างๆ เป็นไปตามมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย ผ่านการกลั่นกรองจากเจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกระดับตามสายงาน และสอบทานจากหลายฝ่ายหลายครั้ง ซึ่งในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาทุกครั้ง เป็นข้อเสนอมาจากคณะกรรมการตรวจการจ้าง

ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม วิศวกร การก่อสร้าง และด้านอควาเรียมของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรรมการควบคุมงาน ผ่านการกลั่นกรองของผู้เกี่ยวข้องในสอศ. ทั้งฝ่ายพัสดุ ที่ดูแลเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง กลุ่มออกแบบและก่อสร้าง และนิติกร ผ่านทางผู้อำนวยการสำนัก รองเลขาธิการกอศ. ที่รับผิดชอบ ก่อนมาถึงผม ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ

เท่ากับผ่านการพิจาณาทั้งฝ่ายวิชาการ และระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มั่นใจว่ากระบวนการทำงานเป็นไปด้วยความรอบคอบ ยึดประโยชน์ทางราชการเป็นหลัก ไม่ได้ประมาทเลิ่นเล่อ” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากสิ้นสุดการดำเนินการระยะที่ 1 ทางสอศ.ขอความอนุเคราะห์ ไปที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ออกแบบรูปรายการเพื่อให้การก่อสร้างต่อเนื่องสัมพันธ์กับงานเดิมอย่างสมบูรณ์เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ สจล.ได้ออกแบบและประมาณงบฯไว้ 572 ล้านบาท

แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านงบฯ สอศ.ได้รับงบฯ เพียง 269 ล้านบาท สอศ.จึงขอให้สจล.ปรับแบบรูปรายการอีกครั้ง ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสอดคล้องกับงบประมาณ ซึ่งเป็นดุลยพินิจของทางสจล. และในการลงนามในสัญญาจ้างระยะที่ 2 และ3

ตนในฐานะเลขาธิการกอศ.มอบอำนาจให้ รองเลขาธิการกอศ. ในขณะนั้น ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการกอศ. ซึ่งการก่อสร้างก็สามารถดำเนินการเสร็จตามสัญญา ส่วนระยะที่ 4 เกิดขึ้นหลังจากที่ตนพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการกอศ.แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน