ผู้เชี่ยวชาญ ชำแหละโมเดลเขื่อนน้ำเทิน 2 ล้มเหลว เผยแม่น้ำโขงป่วย-สร้างไร้หลักวิชาการ
ผู้เชี่ยวชาญ – วันที่ 19 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อาคารมณียา กทม. มีเวทีเสวนาเขื่อนลุ่มน้ำโขง ภัยพิบัติและความเป็นธรรมทางนิเวศน์วิทยา เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง (Dams, disaster and ecological justice: hydropower legacies in the Mekong) โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายบรูซ ชูเมกเกอร์ จากอเมริกาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนในลาว น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานกลุ่มจับตามการลงทุนเขื่อนลาว น.ส.มอรีน แฮรีส ผอ.ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ
นายบรูซ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการต่อต้านเขื่อนปากมูนในประเทศไทย ผลกระทบจากเขื่อนต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ชัดเจน ขบวนการต่อต้านเขื่อนเข้มข้นมาก ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐบาลยากที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่หลังจากประเทศลาวสิ้นสุดสงครามเย็น กลุ่มผู้ลงทุนได้หาแหล่งพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่ในลาว ด้วยเหตุผลหลัก คือ ลาวมีแม่น้ำ มีศักยภาพพัฒนาพลังงานน้ำสูงมาก ธนาคารโลกเองก็มีภารกิจพัฒนาประเทศด้อยพัฒนาและลาวเป็นประเทศที่ประชาชนไม่สามารถคัดค้านได้
นายบรูซ กล่าวต่อว่า ในยุควิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ไทยมีความต้องการไฟฟ้าลดลงอย่างมาก ซึ่งยุคนั้นการวิพากวิจารณ์เขื่อนขนาดใหญ่เป็นไปในทางลบทั่วโลก อย่างไรก็ตามต่อมาโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นโดยมีบริษัทเอกชนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องและขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. โครงการนี้มีความซับซ้อนแต่เป็นความฝันของวิศวกรเพราะดึงน้ำข้ามมาจากอีกลุ่มน้ำหนึ่งเพื่อผลิตไฟฟ้า ขณะนั้นธนาคารโลกอ้างว่าเป็นการสร้างเขื่อนรูปแบบใหม่โดยมีผู้เชี่ยวชาญนานาชาติอยู่ในคณะกรรมการที่ตรวจสอบ (PoE) และยังมีเอ็นจีโอเรื่องสัตว์ป่ารับทำหน้าที่อพยพและดูแลสัตว์ป่าที่จะถูกน้ำท่วม ที่น่าสนใจหนึ่งคืออ่างเก็บน้ำ 430 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 2 แสนไร่ ที่ต้องอพยพสัตว์ป่าซึ่งมีคุณค่า และในแม่น้ำเซบั้งไฟต้องอพยพกลุ่มชาติพันธุ์ ตอนนั้นทุกๆหมู่บ้านมีตลาดปลาที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่เขื่อนได้ท่วมเขตอนุรักษ์ที่สำคัญและตัว “เสาล้า” ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้หายไป
นายบูรซ กล่าวว่า ธนาคารโลกพยายามบอกว่าสามารถทำเขื่อนนี้ให้ดีได้ โดยจะเอาเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐช่วยเหลือฟื้นฟูชีวิตชาวบ้าน และพูดถึงการเยียวยาประชาชนท้ายน้ำ โดยธนาคารโลกได้ออกหนังสือและประชาสัมพันธ์มากมาย โดยมุ่งทำให้เขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นโมเดลสำหรับการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าหลังจากติดตามการเยียวยาชดเชยชาวบ้าน โดยมีการทุ่มงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีบ้านใหม่ที่สวย แต่จริงๆเขาต้องสูญเสียวิถีชีวิต ซึ่งผลกระทบสามารถแตกออกเป็น 5 เสาหลัก เช่น การเลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ การประมง
“โครงการนี้ไม่สามารถเยียวยาได้ ไม่ว่าชดเชยอย่างไรก็มีรายละเอียดต้องแก้ไข ตอนปี 2014 ผมได้ลงพื้นที่กับผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปลาต่างๆ หายนะคือไม่มีอีกแล้ว เพราะปลาอพยพไม่ได้ มีเขื่อนกั้น ทีน่าสนใจคือการปล่อยน้ำขึ้น-ลง ขึ้นอยู่กับกรุงเทพว่าปิด-เปิดแอร์แค่ไหน เพราะส่งผลกับน้ำที่ระบายจากเขื่อน กลายเป็นว่าผู้ควบคุมเขื่อนและน้ำในแม่น้ำคือคนที่เปิดแอร์ในกทม.” นายบรูซ กล่าว
น.ส.เปรมฤดี กล่าวว่า เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นการร่วมทุนของบริษัทไทยกับเกาหลีใต้ ซึ่งหากมองเชื่อมโยงกับเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งเราใช้เวลา 12 ปีติดตามอย่างใกล้ชิดและเห็นชัดเจนแล้วว่าเขื่อนสร้างความเสียหายขนาดไหนต่อประชาชนและระบบนิเวศ ขณะเดียวกันเราได้ลงพื้นที่เมืองสนามไซ เพื่อดูผลกระทบจากเขื่อนแตกและเดินทางไปเกาหลีพบกับสส.และคณะกรรมาธิการรัฐสภา รวมทั้งบริษัทเอสเคที่ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จ เพราะอย่างน้อยบริษัทเอสเคควรออกมาแสดงความรับผิดชอบซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทไม่ได้พูดอะไร จนกระทั่งคณะกรรมาธิการเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากของไทยที่บริษัทได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารหลายแห่งในไทย
“วันนี้ชาวบ้านได้รับเงินวันละ 20 บาทเพื่อประทังชีพ พวกเขาไม่อยากกลับอีกแล้วเพราะพื้นที่นั้นกลายเป็นสุสานที่มีประชาชนเสียชีวิตและสูญหาย ตอนนี้ชาวบ้านเห็นว่าบริษัทเอสเคของเกาหลีสร้างบ้านให้อยู่ แต่บริษัทไทยไม่ค่อยโผล่หน้าไปเลย เพราะรัฐสภาเกาหลีเขามีรายงานการตรวจสอบ สองวันที่ผ่านมาบริษัทเอสเคได้ออกมาขอโทษอีกครั้ง และยืนยันว่าเขากำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่บริษัทไทยไม่มีเลย บริษัทราชบุรีโฮลดิ้งบอกว่าอย่าเพิ่งกังวล สิ่งที่เกิดขึ้นกับเซเปียน-เซน้ำน้อย คือรัฐบาลลาวจะตัดสินอนาคตของตัวเองอย่างไร เราต้องร่วมมือกันติดตามการลงทุนขนาดใหญ่โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรับผิดชอบ เพราะมันไม่ใช่แค่เขื่อนพัง” นางสาวเปรมฤดี กล่าว
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า แม่น้ำโขงป่วย แต่ไม่รู้ระยะไหน ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวและไม่เข้าใจธรรมชาติและคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ปรากฏการที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงเกิดจากเขื่อนโดยเขื่อนคือวิกฤตของแม่น้ำที่ส่งผลกระทบขึ้นมากมาย โดยเรื่องใหญ่คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรัฐบาลและนักลงทุนอาจมองเป็นเรื่องเล็ก แต่ตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ของชาวบ้าน และเชื่อว่าความเจ็บป่วยแม่น้ำโขงจะยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 11 เขื่อน นอกจากนี้ยังมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาขาแม่น้ำโขงเกือบทุกสาย ซึ่งอาจทำให้แม่น้ำโขงถึงกาลวิบัติ และการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นโดยไม่มีธรรมาภิบาล เมื่อก่อนเรามองจีนว่าไม่มีธรรมาภิบาล แต่เดี๋ยวนี้เหมือนกันหมด เป็นการก่อสร้างที่ไร้หลักวิชาการ เช่น เขื่อนไซยะ หลายเรื่องมีปัญหาแต่ดันทุรังสร้างจนใกล้จะเสร็จแล้ว
“เขื่อนน้ำเทิน 2 ธนาคารโลกบอกว่าดีที่สุด แต่สุดท้ายยังใช้ไม่ได้ ผมเชื่อว่ายังมีเขื่อนในลาวอีกมากมายที่ใช้ไม่ได้ ยิ่งเป็นเขื่อนที่เกิดมาก่อนเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งมีอีกเยอะ กรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นตัวอย่างชัดเจน และมีปัญหาเรื่องการโกงกิน เขื่อนทุกแห่งหลังจากสร้างแล้ว ต้องอพยพผู้คนซึ่งทุกเขื่อนต่างโปรโมทเรื่องการอพยพไปอยู่ในบ้านใหม่ แต่บ้านกินไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน คุณมีบ้านอยู่ เท่ห์ ดีกว่าบ้านเดิม แต่เขาจะกินอะไร ที่สำคัญการรวมเอาคนหลายๆ หมู่บ้านที่มีความแตกต่างวิถีวัฒนธรรมมาอยู่ด้วยกัน ทำให้มีปัญหา เกิดการทะเลาะ และเกิดผลกระทบสะสม เมื่อไม่มีที่ทำกินไม่มีอาชีพ จึงข้ามมาหากินฝั่งไทย มารับจ้างทำงานที่เสี่ยง เกิดประเด็นการค้ามนุษย์ ถามว่าเรื่องพวกนี้คนลาวพูดได้หรือไม่ แท้จริงแล้วไม่มีปัญหาเขื่อนไหนที่คนลาวพูดได้” นายนิวัฒน์ กล่าว