ยางพารา 3 โล ซื้อหมู 1 โล ยังไม่ได้! ชาวสวนตัดใจโค่นทิ้ง สุดช้ำโดนกดราคาอีก ด้านร้านปุ๋ยโอดบางวันขายไม่ได้สักกระสอบ ต้องเลิกจ้างพนักงาน

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายประสิทธิ์ รุ่งเรือง หรือลุงสิทธิ์ อายุ 75 ปี เจ้าของสวนยางพารา จำนวนกว่า 20 ไร่ ในพื้นที่ หมู่ 4 บ้านน้ำฉาล่าง ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร กล่าวว่า ตนปลูกยางพาราแปลงดังกล่าวมีอายุประมาณ 20 ปี เจอวิกฤตราคายางตกต่ำเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันยังจ้างคนงานตัดโดยขายเป็นขี้ยางราคากิโลกรัมละ 21-22 บาท 3 กิโลกรัมไม่ถึง 100 บาท ซื้อเนื้อหมู 1 กิโลกรัมยังไม่ได้เลย มิหนำซ้ำต้องมาแบ่งรายได้กับลูกจ้างคนละครึ่งอีก

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ยังพอสู้ไหว แต่ราคามีแต่จะดิ่งเหวกู่ไม่กลับ สุดท้ายตัดสินใจให้ผู้รับเหมามาตีราคาไม้ยางทั้งหมด 20 ไร่ กว่า 700 ต้น เพื่อตัดขายไม้ทิ้ง แต่ยังไม่ได้วางแผนว่าจะปลูกพืชอะไรมาทดแทนเพราะมะพร้าว ปาล์มก็ถูกเหลือเกิน ระหว่างนี้สั่งกำชับคนงานตัดยางให้เร่งตัด โดยทำให้ได้น้ำยางออกมามากที่สุด ไม่ต้องห่วงเรื่องหน้ายางจะพังเพราะจะขายต้นแล้ว

เมื่อตัดสินใจตัดต้นยางทิ้งเพื่อขายไม้ ยังโดนผู้รับเหมาที่มาซื้อไม้กดราคาให้ต่ำอีก ผู้ซื้อบอกว่าทำงานตัดไม้ 10-15 วัน ได้เงินแค่ 4-5 หมื่น กำไรน้อย ไม่คุ้ม รู้สึกเสียดาย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร” นายประสิทธิ์กล่าวด้วยความชอกช้ำ

ความทุกข์ร้อนของชาวเกษตรกรจากราคายางพาราตกต่ำ ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงผู้ประกอบการค้าปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรที่จำเป็นต้องดิ้นเอาตัวรอด โดยงดปล่อยสินเชื่อปุ๋ยให้ชาวสวนและเลิกจ้างพนักงาน เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

น.ส.กาญจนา องอาจ วัย 51 ปี เจ้าของร้าน ทอง-ทอง ดอนหว้าการเกษตร ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร กล่าวว่า ทางร้านเปิดมากว่า 10 ปี ปัจจุบันการค้าขายค่อนข้างแย่มาก บางวันขายปุ๋ยสำหรับต้นยางพารา ปาล์มน้ำมัน แทบไม่ได้สักกระสอบ ซึ่งผิดกับช่วงที่ราคาดี อย่างน้อย 3 เดือนใส่ปุ๋ย 1 ครั้ง หลังจากเจอวิกฤตราคาพืชสวนตกต่ำผลกระทบค่อนข้างเยอะ เงินหมุนไม่ทันราคาปุ๋ยต้นทุนสูงขายไม่ค่อยมีกำไรอยู่แล้ว มาเจอแบบนี้ของก็ขายไม่ได้ ไหนจะค่าใช้จ่าย เช่น จ้างลูกน้อง ค่าดอกเบี้ย จึงจำเป็นต้องลดพนักงาน โดยจ้างไว้เท่าที่จำเป็น เหลือเพียงเสมียน 1 คน และพนักงานยกสินค้า 1 คน งานที่เหลือก็ช่วยกันภายในครอบครัว

เจ้าของร้าน กล่าวอีกว่า แต่ก่อนทางร้านได้ปล่อยเป็นสินค้าเครดิตให้กับชาวสวน แต่ปัจจุบันทางร้านไม่สามารถให้ได้ เพราะหลังจากพืชเกษตรตกต่ำ ตัวแทนบริษัทจำหน่ายปุ๋ยเข้มงวดเรื่องการเงินมากขึ้น ทางร้านจึงไม่กล้าจำหน่ายเป็นสินค้าเครดิต กลัวเรียกเก็บเงินจากชาวสวนยาก จึงขอจำหน่ายเป็นเงินสดอย่างเดียว หรือถ้าพลาดท่าอย่างไรบริษัทปุ๋ยมาเห็นอย่างน้อยก็ยังมีสินค้าอยู่” น.ส.กาญจนา กล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน