มท.แก้ไขระเบียบว่าด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อความคล่องตัวในการดูแลประชาชน

มท. – เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2561 ว่า จากที่ สถ.ได้ออกระเบียบดังกล่าว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือปฏิบัติไปแล้วนั้น

เนื่องจากในระเบียบดังกล่าวกำหนดให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.ซึ่งมีกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ สามารถใช้จ่ายเงินบำรุงเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าวัสดุทางการแพทย์ ค่าตอบแทนทางการแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้าง และค่าจ้างชั่วคราวรายเดือน ค่าจ้างรายวัน หรือรายคาบ ซึ่งยังคงมีค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.หลายรายการ ที่ไม่สามารถใช้จ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาลได้

ทำให้การปฏิบัติงานของโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.ขาดความคล่องตัว รวมทั้งระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.จะต้องเรียกเก็บ ทำให้ที่ผ่านมาอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ไขปัญหา สถ.จึงได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวขึ้น โดยเพิ่มเติมรายการที่ใช้จ่ายเงินบำรุง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ได้แก่ ค่าใช้สอย ค่าสาธารณูปโภค ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและการเข้ารับการฝึกอบรมของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข นอกจากนี้ยังกำหนดให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท. ต้องมีเงินบำรุงคงเหลืออยู่ในบัญชีโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อใช้จ่ายในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

สำหรับโรงพยาบาลของ อปท. ต้องมีเงินบำรุงคงเหลือไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และสำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท. ต้องมีเงินบำรุงคงเหลือไม่น้อยกว่า 200,000 บาท เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายกรณีจำเป็น และให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับบริการตามอัตราที่ อปท.กำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อให้อปท.สามารถกำหนดอัตราการเรียกเก็บได้ตามสถานะทางการคลัง

รวมทั้งกำหนดให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือหัวหน้าหน่วยบริการสาธารณสุข สามารถใช้ดุลพินิจที่จะไม่คิดค่าใช้จ่ายกรณีคนไข้ผู้ยากไร้ โดยให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือหัวหน้าหน่วยบริการสาธารณสุขของ อปท.กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่คิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน