อุทยานภูจองฯ ปล่อย ไฟชอร์ต ด.ช.12 ตาย หลังไปเกาะรั้ว ถึงกับหงายท้อง ควันขึ้นตามตัว พ่อ-แม่แจ้งความกลัวเรื่องเงียบ ว้ำบอกจะชดเชยแค่ 90,000 บาท ชาวบ้านโวยทำไมไม่ยอมแจ้งเตือนก่อนหน้า เพิ่งจะติดป้ายหลังเกิดเหตุ

ไฟชอร์ต วันที่ 22 พ.ย. นางอุไร ทันเต อายุ 39 ปี และนายสิน ทันเต อายุ 44 ปี สองสามีภรรยา ชาวบ้านแก้งเรือง หมู่ 15 ต.นาจะหลวย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี เดินทางเข้าขอความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวและขอความเป็นธรรม กรณีน้องเฟรม ลูกชายอายุ 12 ปี ถูกไฟฟ้าชอร์ตเสียชีวิต ในเขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 ต.ค. แต่ไม่มีความคืบหน้าทางคดี และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางอุทยานฯ ซึ่งกลัวว่าเรื่องจะเงียบ

นางอุไร กล่าวว่า วันเกิดเหตุ ตนไปขายอาหารที่บริเวณน้ำตกห้วยหลวง เขตอุทยานแหง่ชาติภูจองนายอย ซึ่งทำเป็นประจำทุกวันอยู่ แต่ก็ให้ลูกชายอยู่ที่บ้านและเล่นกับเพื่อนในชุมชน กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ตนได้รับแจ้งว่ามีเด็กถูกไฟชอร์ตเสียชีวิตที่หน่วยพิทักษ์ ด่าน 1 อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ซึ่งเป็นด่านแรกก่อนจะเข้าไปยังเขตอุทยานฯ เป็นจุดที่อยู่ติดกับสวนส้มโอของชาวบ้านแก้งเรือง ขณะนั้นยังไม่แน่ใจว่าเด็กที่เสียชีวิตจะเป็นของตนหรือไม่ จึงตรวจสอบที่โรงพยายามนาจะหลวย จนทราบว่าเป็นลูกชายของตน

แม่โวยเยียวยาแค่ 90,000 บาท

นางอุไร กล่าวต่อว่า หลังจากที่เกิดเรื่องตนได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.นาจะหลวย และเข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ของทางอุทยานได้นำพวงหรีด และเงินช่วยเหลืองานศพ ที่เพิ่งประกอบพิธีไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค.จำนวน 30,000 บาท และได้นัดเจรจาเงินเยียวยากับทางอุทยานฯ หลายรอบ โดยทางอุทยานฯ จะขอช่วยเหลือเยียวยารวมทั้งหมด 90,000 บาทเท่านั้น ซึ่งตนและครอบครัวบอกว่าเงินจำนวนนี้ มันไม่สามารถที่จะมาทดแทนกับชีวิตของลูกชายได้เลย แต่ทางอุทยานกลับเงียบไป ผ่านมากว่าหนึ่งเดือนก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงมาขอความเป็นธรรมและขอให้ทางอุทยานฯ ได้เห็นใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย เพราะการที่อุทยานฯ ปล่อยกระแสไฟฟ้าในรั้วนั้นก็ไม่เคยแจ้งให้ชาวบ้านรู้มาก่อน และอีกอย่างจุดที่เกิดเหตุก็ติดกับสวนของชาวบ้าน ซึ่งก็มีชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้เส้นทางนั้นเดินทางไปเล่นน้ำที่แก่งคลองหลวง เป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กๆในชุมชน

เพื่อนเล่านาทีเกิดเหตุ เห็นสภาพแล้วขวัญผวา

ด้าน ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 11 ปี เพื่อนของน้องเฟรม ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า วันนั้นตนและเฟรม พร้อมเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ได้ไปเล่นน้ำที่แก่งคลองหลวง ซึ่งปกติจะใช้เส้นทางนั้นและใกล้กับชุมชน ซึ่งเฟรม เป็นคนแรกที่เดินทางนำหน้าเข้าไป พอไปถึงที่เกิดเหตุเฟรม ได้ยื่นมือไปจับกับสายลวดที่ขึงไว้กับต้นไม้ล้อมท่อนไม้พยุงไว้ จากนั้นก็ร้องเสียงดังออกมา ก่อนจะชักล้มลงโดยที่มือและหน้าอกของเฟรมมีรอยไหม้และมีควันออกมา ตนและเพื่อนๆ ตกใจจึงวิ่งหนี และวนกลับไปดูอีกครั้งก็พบว่าเฟรมนอนแน่นิ่งไปแล้ว

เจ้าของสวนโวย ไม่ยอมบอกชาวบ้านให้รู้ว่าปล่อยกระแสไฟ

ขณะที่ นายเจริญ อักโข อดีตกำนันตำบลนาจะหลวย เปิดเผยว่า เดิมสวนส้มโอที่อยู่ติดกับที่เกิดเหตุนั้น เป็นสวนของลูกชายของตน และอยู่ติดกับแก่งคลองหลวง ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านเด็กๆ มาเล่นน้ำกันเป็นประจำ ซึ่งเข้าใจว่าเด็กๆ จะชอบใช้เส้นทางนี้ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่อนุญาต เพราะเป็นที่เก็บรักษาไม้พยุงของกลางจากคดีป่าไม้ ซึ่งตนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคยแจ้งว่าจะมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับไม้พะยุง เพราะปกติจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรยามอยู่แล้ว อีกอย่างจุดที่เก็บไม้พยุงก็อยู่ห่างจากป้อมยามของเจ้าหน้าที่เพียง 30 เมตร ซึ่งไม่น่าจะปล่อยกระแสไฟฟ้า และก็เป็นช่วงเวลากลางวันด้วย

จากนั้นชาวบ้านได้พาผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ และพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินสำรวจที่เกิดเหตุพบว่าจุดเกิดเหตุอยู่ทางด้านทิศเหนือของป้อมยามด่าน 1 ของอุทยานฯ ห่างไปประมาณ 30 เมตร ในบริเวณนั้นมีไม้พยุงของกลางจำนวนมาก ถูกกองไว้เป็นสัดส่วน และมีเลขกำกับทุกท่อน ซึ่งแต่ละกองมีลวดหนามที่ผูกติดไว้กับไม้พยุงทุกกอง บางส่วนใช้สายลวดขนาดประมาณ 0.50 เซนติเมตร จำนวน 6 เส้น ยึดติดกับต้นไม้และล้อมไม้กองไม้พยุงเอาไว้ ซึ่งสายลวดถูกยึดให้ห่างกันประมาณ 10 นิ้ว เรียงเป็นชั้นจากพื้นดิน สูงไปประมาณ 170 ซม. ที่บริเวณต้นไม้มีป้ายสีแดงขนาด 10×10 นิ้ว ระบุข้อความว่า “อันตราย วัตถุระเบิด” และมีรูปหัวกะโหลกติดไว้ด้วย

ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านระบุตรงกันว่าป้ายนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน เพิ่งจะเคยเห็นหลังเกิดเหตุไฟฟ้าชอร์ตน้องเฟรมเสียชีวิต จากการตรวจสอบทราบว่าระยะห่างของสายลวดที่ปล่อยกระแสไฟ อยู่ห่วงจากรั้วสวนส้มโอของชาวบ้าน เพียง 1.50 เมตร ถึง 2.50 เมตร เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน