ทุกข์ชาวเล คนทะเล สะท้อนปัญหา ไร้สัญชาติ-ถูกจับ-คุกคาม ทั้งที่มีมติ ครม.คุ้มครอง

ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 9 “เหลียวหลังแลหน้า 9 ปี มติครม. ชาวเล” ขึ้นเป็นวันแรก(1 ธ.ค.) ภายในงานมีการจัดนิทรรศการสะท้อนปัญหาต่างๆของชาวเล และการแสดงทางวัฒนธรรม

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ให้สัมภาษณ์ว่า ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั่งเดิม ประกอบด้วย อูรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน จำนวน 2,800 ครอบครัว ประมาณ 14,000 คน อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างสงบสุขมาช้านานกว่า 300 ปี

แต่นโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการประกาศเขตอุทยานทางทะเล ส่งผลกระทบต่อวิถี และการดำรงชีวิตของชาวเลเป็นอย่างมาก เช่น ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ

นางปรีดา กล่าวว่า หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกับพี่น้องชาวเล จัดทำข้อเสนอหาแนวทางแก้ไขจนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 2 มิ.ย.2553 โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ นำปัญหาของชาวเล 10 ประเด็น และนำแผนสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพด้านการประมงและหาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ

โดยการผ่อนปรนให้ใช้อุปกรณ์ดั่งเดิมของชาวเล ปัญหาด้านสาธารณะสุข การไม่มีบัตรประชาชน การศึกษาของเด็ก การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง ตลอดจนปัญหาด้านอคติชาติพันธุ์

นางปรีดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้มติ ครม. 2 มิ.ย.2553 ครบ 9 ปี แล้ว แต่พบว่าปัญหาในหลายๆด้าน ยังได้ไม่รับการแก้ไข หรือแก้ไขไม่แล้วเสร็จ เช่น ชาวเล 28 แห่ง ที่อาศัยอยู่ในที่ดินรัฐ ยังไม่มีความมั่นคงในที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับที่ดินชาวเลถูกเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน 7 ชุมชน และชาวเล 3 ชุมชน กว่า 200 ครอบครัว ถูกฟ้องร้องขับไล่ที่

โดยที่ดินศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณที่ชาวเลใช้เป็นสุสานฝังศพ มาหลายชั่วอายุคนจำนวน 23 แห่ง กำลังถูกเบียดขับรุกราน

“ตอนนี้ยังมีชาวเลกว่า 400 คน ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน กว่า 20 ราย ถูกจับเพราะออกทำการประมงในทะเล ซึ่งเคยทำกินมาแต่ดั่งเดิม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและครอบครัว ล่าสุดได้ประชุมหารือร่วมกับอุทยาน 7 แห่ง ทำให้เห็นแนวโน้มที่ดีแต่ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด”นางปรีดา กล่าว

และว่านอกจากนี้ปัญหาอื่นๆ ใน 10 ประเด็นก็ยังไม่มีผลทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของเด็ก การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งปัญหาด้านอคติทางชาติพันธุ์

ชาวเลพังงาครวญ อยู่มา 30 ปี ยังไร้บัตรประชาชน

ด้าน นางสังวาลย์ กล้าทะเล อายุ 73 ปี ชาวมอแกนชุมชนชัยพัฒน์ อ.คุระบุรี จ.พังงา กล่าวว่า ตนนั่งเรือข้ามจากฝั่งพม่ามาอยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพวกตนที่ข้ามกันไป-มาเพราะไม่รู้ว่าที่ไหนเป็นของใคร ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บนเกาะพระทองจนเกิดสึนามิจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ชุมชนชัยพัฒน์

“ทุกวันนี้ยายไม่มีบัตรประชาชนสักที ทำเรื่องไปตั้งนานแล้วแต่ไม่เห็นได้ ผิดกับเพื่อนๆที่ได้กันหมดแล้ว ตอนนี้ลูก 4 คนก็ตายหมดแล้ว ยายอยากได้บัตรเพราะเวลาไปหาหมอจะได้ไม่ต้องเสียเงิน อยากได้เบี้ยผู้สูงอายุเหมือนคนอื่นๆเขา”นางสังวาลย์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.ฌามา กล้าทะเล อายุ 25 ปี ชาวมอแกนชุมชนชัยพัฒน์ กล่าวว่า ครอบครัวตน 6 คนยังไม่มีบัตรประชาชนเช่นเดียวกัน โดยพ่อแม่เข้ามาอยู่ประเทศไทยกว่า 40 ปีแล้ว ทุกวันนี้แม้มีบ้านที่ในหลวงพระราชทานให้ตั้งแต่เกิดสึนามิ แต่ก็ยังไม่มีทะเบียนบ้านทำให้ประสบปัญหาต่างๆมากมาย เช่น การเดินทางและความช่วยเหลือต่างๆจากรัฐบาล

มติครม. ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ผ่าน 9 ปี คุ้มครองชาวบ้านไม่ได้

สำหรับการจัดงานในวันที่ 2 (2 ธ.ค.ที่ผ่านมา) มีชาวเลจากพื้นที่ต่างๆริมทะเลอันดามันเข้าร่วมกว่า 400 คน ทั้งนี้นายพงษ์ศักดิ์ คารวานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเปิดงานว่าปัญหาชาวเลเป็นปัญหาระดับนโยบาย ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้วิธีการต่อสู้เพราะถ้าต่อสู้ก็ต้องมีผู้แพ้-ชนะ แต่วันนี้แค่ร้องขอสิทธิที่มีอยู่ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงมีเรื่องรุดหน้าและดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง เรามียุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญ ทำให้มีโอกาสมากขึ้น สิ่งแรกที่อยากให้ทวงสิทธิคืนคือการออกกฏหมายรองรับกลุ่มชาติพันธุ์ หากสามารถดำเนินการได้ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามครรลอง

ขณะเดียวกันภายในงานยังมีการเสวนาโดยมีผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการและชาวเลร่วมกันแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 9 ปี มติ ครม.ชาวเล” โดยนายนิรันดร์ หยังปาน ผู้แทนชาวเลชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากมีมติครม.คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แต่พวกเรายังถูกฟ้องอยู่เรื่อยๆโดยชาวบ้านในราไวย์ถูกฟ้องกว่า 200 คดี ซึ่งชาวบ้านยังหาเช้ากินค่ำเพราะเชื่อว่ามติครม.จะแก้ไขปัญหาได้บ้าง แต่กลับไม่ได้เลยเพราะเรายังถูกจับกุมและแทบจะประกอบอาชีพไม่ได้เลย

ที่ผ่านมาเราได้คุยกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาว่าจะมีเขตผ่อนปรนให้ชาวเลประกอบอาชีพ ซึ่งอุทยานทุกแห่งต่างเห็นด้วยให้เราใช้เครื่องมือของชาวเล แต่สุดท้ายเราก็ยังถูกจับกุม โดยมีลำหนึ่งเข้าไปหาปลาที่พังงาและถูกน้ำหนีบจึงแวะอุทยานฯในภูเก็ตเพื่อรักษาอาการน้ำหนีบแต่กลับถูกจับกุมในข้อหาบุกรุก พอเราตั้งคำถามว่าเขตอุทยานฯอยู่แค่ไหน และเมื่อมีเขตผ่อนปรนแต่เราก็ยังถูกจับกุมอยู่

นางสลวย หาญทะเล ผู้แทนชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่าเมื่อมีมติครม.เราก็หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่เรากลับยังถูกจับติดคุก แม่ของตนเป็นคนดั้งเดิมต้องเครียดเพราะถูกฟ้อง แม้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแต่เขาก็ฎีกาต่อ พื้นที่หลีเป๊ะชาวเลเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก เราเป็นอุรักลาโว้ยที่อยู่ใต้สุดในทะเลอันดามัน พวกเราถูกฟ้องกว่า 30 ราย

นางสายใจ หาญทะเล อีกหนึ่งตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า ปู่ย่าตายายของพวกตนเชื่อว่าเกาะหลีเป๊ะเป็นเขตสยาม ก่อนประกาศอุทยานฯพื้นที่เหลานี้เป็นที่ของชาวเล เราพยายามให้เจ้าหน้าที่รัฐเห็นใจ แต่เขาไม่อนุญาตได้เราทำมาหากินเลย จนแม่ตนต้องป่วยและตรอมใจตาย เราถูกคุกคามมาก แม้แต่เด็กๆเล่นชายหาดก็ยังไมได้ ตอนนี้ไล่อย่างเดียว ตอนนี้เราต้องเถียงอยู่กับอุทยาน รู้อย่างนี้เราอยู่มาเลย์ดีกว่า

คนทะเลภูเก็ต ร้องถูกรัฐไล่ที่ นายทุนบุกรุก

ขณะที่ชาวเลจากชุมชนสะปำ จ.ภูเก็ต กล่าว่า เราอยู่ที่ดินในป่าชายเลนมานาน ซึ่งต่อมาทราบว่าอยู่ในความดูแลจองกรมเจ้าท่า เมื่อมิ.ย.61 เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าให้ชาวบ้านไปลงทะเบียนด้วยโดยอ้างว่าใครที่ลงทะเบียนจะได้ไม่กังวลในเรื่องที่อยู่อาศัย และทางจังหวัดได้ประชุมและประกาศว่าพื้นที่บริเวณนั้นจะยกให้ชาวเลเป็นพื้นที่พิเศษเพราะเป็นผู้บุกเบิก แต่หลังจากนั้นอีก 1 เดือนมีหนังสือเชิญชาวบ้านที่ลงทะเบียนรื้อถอนบ้านภายใน 365 วัน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกงง ในที่สุดชาวบ้านไปร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้รอฟังคำตอบ

ผู้แทนชาวเลเกาะพีพี กล่าวว่า พวกเราได้รับผลกระทบจากอุทยานฯ เราอยากให้ทางการช่วยเหลือ ทั้งด้านอุทยานและนายทุนบุกรุกในที่ดินทำธุรกิจโรงแรม และขณะนี้พื้นที่จิตวิญญาณถูกปิดกั้น ชาวบ้านไปไหนไม่ได้ ได้แค่ออกเดินหน้าหาดตัวเอง ตอนนี้มีแต่บริษัททัวร์ใหญ่ๆเข้าไปจนชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้

น.ส.อรวรรณ หาญทะเล ผู้แทนเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า เรามีสุสานฝังศพ 15 แห่ง แต่มีเอกสารระบุว่าเป็นที่ดินสาธารณะ 2 แห่ง บางพื้นที่ยังถูกฟ้องถูกขับไล่จากนายทุนอยู่ ขณะที่พื้นที่ศักดิ์สิทธิพวกเราเคารพและให้เกียรติแต่รัฐไม่เข้าใจ หลังมติ มีปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกินประกอบอาชีพ

พวเราทำเรื่องของการเก็บขอมูลชุมชน ทำผังตระกูล ทำเรื่องพื้นที่นำร่องใน 11 พื้นที่ หลังจากเราสู้แต่ปัญหา เราจึงคิดว่าการท่องเที่ยวอย่างไรที่ชาวเลอยู่ได้ จึงทำเรื่องชาวเลพาเที่ยว เดิมชาวเลเองก็ไม่เห็นด้วยเพราะไม่เชื่อมีใครมาเที่ยว เราพยายามยื่นข้อเสนอกับผู้ว่าฯทำเรื่องหน้าบ้านหน้ามอง เรามองเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอนนี้มีคนสหรัฐ สิงคโปร์และเครือข่ายในประเทศไทยมาเรียนรู้ และเราได้พัฒนากลุ่มเยาวชนด้วย

“ถามว่ามติครม.ที่ออกมา 9 ปี เราได้กี่เปอร์เซ็น ทุกคนบอกว่าแค่ 10% เพียงแต่ตอนนี้มีวงหารือ และเริ่มเข้าใจว่าเครื่องมือหาปลาของชาวเลไม่ได้ทำลาย เราคิดว่าแค่มติครม.คงไม่พอแล้ว เลยขอให้นักวิชาการ ช่วยร่างเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมเพื่อให้เรามีพื้นที่ที่แท้จริง”น.ส.อรวรรณ กล่าว

นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่ากะเหรี่ยงมี 1,900 ชุมชนกว่า 3 แสนคน กว่าร้อยละ 40 ของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่มติครม.กะเหรี่ยงผ่านมา 9 ปี ชาวบ้านยังถูกจับและยึดพื้นที่จำนวนมาก ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีเหตุไม่ต่ำกว่าวันละ 20 ราย จนวันนี้ยังไม่มีพื้นที่คุ้มครองเลย

ที่หนักว่านั้นคือมีมติครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบตามคณะกรรมการที่ดิน ซึงจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านโดยกะเหรี่ยงส่วนใหญ่อยู่ตามลุ่มน้ำชั้น 1-2 เขาควรได้รับการคุ้มครอง แต่เมื่อมีมตินี้จะส่งผลกระทบพวกเขา เพราะนอกจากไม่ได้รับการคุ้ครองแล้วยังอาจถูกดำเนินการเพราะเขาใช้เกณฑ์ปี 2545

พูดง่ายๆคือที่ดินที่ปลูกต้นไม้ไว้ในลุ่มน้ำชั้น 1-2 ก็จะถูกยึด และมติครม.ครั้งนี้ยังให้กันพื้นที่ชายทะเล 100 เมตรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทำให้ชาวบานดั้งเดิมไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

นายมงคล ลิ่ววิริยกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า อุทยานทางทะเลได้มีการหารือเรื่องเขตผ่อนปรนแล้ว แต่อาจยังไม่ได้เอามาใช้ดังนั้นจึงอยากเอามติมาย้ำเตือนกับหัวหน้าอุทยานฯต่างๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน