จีนหวังกินรวบ ลุยระเบิดแก่งแดนไทย-สร้างเขื่อนปากแบงในลาว ให้เรือขนาดใหญ่ล่องถึงหลวงพระบาง

จีนหวังกินรวบ – วันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ห้องประชุมโรงแรมอินยาเลค กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้จัดประชุมวิชาการลุ่มน้ำโขง (2018 Greater Mekong Forum on Water Food and Energy) โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศลุ่มน้ำโขงประมาณ 350 คน ทั้งภาครัฐ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(เอ็มอาร์ซี) บริษัทที่ปรึกษาและพัฒนาการสร้างเขื่อน นักวิชาการ ทนายความ และภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ในการประชุม นายปีเตอร์จอน เมเนล นักวิจัยอาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษา ICEM นำเสนอการศึกษาชิ้นใหม่ ภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คือการศึกษาสิ่งแวดล้อมแผนการพัฒนาแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงจากสามเหลี่ยมทองคำ บนพรมแดนไทย-ลาว ถึงหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทางทั้งสิ้น 378 กิโลเมตร โดยศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากแนวทางการพัฒนา 2 แนวทาง

คือ 1.เกิดโครงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขง 2.เกิดโครงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงและเกิดเขื่อนปากแบง ซึ่งจะมีการปรับปรุงร่องน้ำโดยเอาแก่งหิน สันดอน ออกจากแม่น้ำโขง 146 แห่ง เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินทางในแม่น้ำโขงได้

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างมณฑลยูนนานของจีน ตามลำน้ำโขงลงมาถึงหลวงพระบาง โดยในส่วนของแก่งผาได บริเวณชายแดน ที่อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย จะมีการเอาแก่งหินออกเป็นปริมาตร 20,501.499 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสัดส่วน 6.97% ของแก่งผาใดที่อยู่ใต้น้ำ และ 1.88% ของแก่งผาไดที่โผล่พ้นน้ำ ซึ่งจะทำให้เรือขนาดระวาง 3 เมตรสามารถแล่นผ่านแก่งผาไดได้

นายปีเตอร์จอน เมเนล กล่าวต่อว่า การศึกษาพบว่า แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร มีเกาะแก่งที่อันตรายต่อการเดินเรือ 3 แห่ง และจากชายแดนไทยเข้าไปในลาว ถึงจุดสร้างเขื่อนปากแบง ระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร มีเกาะแก่งที่อันตรายต่อการเดินเรือ 7 แห่ง ซึ่งการปรับปรุงร่องน้ำนี้เป็นไปเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ โดยจะตัดแต่งเล็กน้อยของแก่งแม่น้ำโขง เพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ และไม่ใช่การระเบิดที่สร้างความเสียหายแบบที่จีนเคยทำ (บนแม่น้ำโขงตอนบนเหนือสามเหลี่ยมทองคำ ในอดีต)

ขณะที่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวในที่ประชุมว่าฟังจากการนำเสนอแล้วเห็นได้ชัดเจน ว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง และโครงการเขื่อนปากแบง คือเรื่องเดียวกัน เขื่อนปากแบงมีวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อผลิตไฟฟ้า แต่เป็นเพื่อยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อให้เรือจีน ลงไปได้ไกลขึ้น ถึงหลวงพระบาง

“ฟังแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ที่บอกว่าเอาหินออกนิดเดียว นี่ไม่ใช่ทั้งหมด จริงๆ แล้วเรื่องแม่น้ำโขง ต้องประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และจากที่ได้รับข้อมูลมา ก็เป็นที่ชัดเจนว่าผลกระทบต่อแม่น้ำโขงจะเกิดสะสมทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเป็นห่วงหลักของประชาชน คือ การเดินเรือขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่แม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น ขนาดปัจจุบันไม่ได้เดินเรือเต็มที่ เรือจีนมาถึงแค่เชียงแสน ก็ยังเสียหายระบบนิเวศมากแล้ว เรือจีนขนาดใหญ่ขนสินค้าล่องลงมา ย่อมต้องมีการคุ้มกันโดยกองกำลังของเขา ก็จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงชายแดนอีก” นายนิวัฒน์ กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซึ่งได้รับการมอบหมายจากบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด ที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน ที่ได้รับอนุญาตในการสำรวจการดำเนินงานออกแบบและสำรวจ

เบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ส่งจดหมายถึงองค์กรต่างๆเพื่อจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ระหว่างวันที่ 12-18 ธ.ค. จำนวน 8 เวที ในพื้นที่อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น และอ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เริ่มต้นเวทีแรกที่อ.เชียงของ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2561 ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลเวียง อ.เชียงของ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน