ศาลอุทธรณ์ สั่งกองทัพบก จ่าย 1.8 ล้านบาท ชดใช้แม่ สิบโทกิตติกร คดีถูกซ้อมจนตาย

สิบโทกิตติกร – วันที่ 8 ธ.ค. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง (ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) อ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ พ.1131/2560 คดีหมายเลขแดงที่ พ.858/2561 ที่ บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งต่อกองทัพบก

ให้รับผิดกรณีละเมิดเป็นเหตุให้ สิบโทกิตติกร จนเสียชีวิต จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 (มทบ.25) กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกร เสียชีวิตในเรือนจำทหาร จสุรินทร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ.59

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยตามคำฟ้องอุทธรณ์ของ บุญเรือง โจทก์อุทธรณ์ และคำแก้อุทธรณ์ของกองทัพบก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า การกระทำของจำเลยต้องรับผิดแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และฟ้องของโจทก์ ไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณาเรื่องค่าเสียหายไว้ 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามสถานะ สถานภาพทางสังคม และความเป็นอยู่ของโจทก์แล้ว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องด้วย โดยศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าจัดการศพแก่โจทก์ 120,000 บาท แต่หักเงินที่ฝ่ายจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้ว 50,000 บาท ดังนั้นจึงต้องชำระให้โจทก์อีก 70,000 บาท ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายจริงในการจัดงานศพเป็นเงินทั้งสิ้น 211,225 บาท

ประเด็นที่สอง ค่าขาดไร้อุปการะ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลต้องพิจารณาถึงโอกาสตามความเป็นจริงในขณะที่บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย ซึ่งในขณะสิบโทกิตติกร ถึงแก่ความตาย สิบโทกิตติกร ได้รับคำสั่งให้ออกจากข้าราชการทหารแล้ว จึงไม่ได้รับเงินเดือนอันเป็นรายได้ที่แน่นอนจะให้แก่โจทก์ได้

อีกทั้งสิบโทกิตติกร ยังต้องคำพิพากษาให้จำคุกอยู่ระหว่างดำเนินคดีอาญา ยิ่งทำให้โอกาสที่โจทก์จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสิบโทกิตติกร น้อยลงไปอีกด้วย ค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำนวน 1,800,000 บาทนั้น เหมาะสมแล้ว

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าหากบุตรโจทก์ไม่ถูกกระทำให้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ไปจนสิ้นอายุไขของโจทก์ จึงเรียกค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 6,600,000 บาท

ประเด็นที่สาม ค่าขาดสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลอุทธรณ์พิจารณา เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้น อ้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ชอบแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายคุ้มครองบุคคลทั่วไป กับบุคคลที่ได้รับคงวามเสียหายทางแพ่ง ย่อมต้องอาศัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกำหมายอื่นๆ

เมื่อโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอ้างเพียงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า มีค่าเสียหายใดบ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น ที่โจทก์ควรได้รับ ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายอื่นได้อีก ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายโดยชอบแล้ว

ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกจำนวน 10,000,000 บาท เพื่อเป็นมาตรการเชิงลงโทษที่รัฐต้องตระหนักและควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้กระทำละเมิดต่อชีวิตประชาชนดังเช่นกรณีบุตรของโจทก์ที่ถูกกระทำถึงแก่ความตาย โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลไว้

คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้กองทัพบกชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าจัดการศพและค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,870,000 บาท แก่ บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำ มทบ. 25 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรจนเสียชีวิต

ก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายดังกล่าว ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้ไต่สวนการตายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2559 แล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 ว่าผู้ตายถูกพลอาสาสมัครซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำกับพวกรวม 4 คน ทำร้ายสิบโทกิตติกร มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก จนถึงแก่ความตาย

อีกทั้งรายงานการผ่าศพของแพทย์พบว่าภายในศีรษะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองบวม บริเวณทรวงอกภายในมีกระดูกซี่โครงหัก 2 ซี่ บริเวณปอดมีรอยฟกช้ำที่กลีบปอดซ้าย บริเวณท้องมีของเหลวสีน้ำตาลอยู่ภายในช่องท้องประมาณ 200 มิลลิลิตร กระเพาะอาหารแตก และมีรอยฟกช้ำเล็กน้อยที่บริเวณกลีบซ้ายของตับ

โดยรายงานการชันสูตรพลิกศพสรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจาก มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำทำร้ายสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณเรือนจำที่ตนเป็นสิบเวรประจำวัน มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อหน่วยงานและบุคคลผู้ต้องขัง แต่ได้จงใจสั่งการและร่วมกันกับพลทหารผู้ช่วย ทำร้ายสิบโทกิตติกรฯ

โดยทรมานและทารุณโหดร้าย และจงใจไม่แจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการบาดเจ็บของสิบโทกิตติกรฯ และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ มีพฤติการณ์ข่มขู่ไม่ให้ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในห้องขังเดียวกันช่วยเหลือสิบโทกิตติกรฯ และได้สั่งผู้ต้องขังในห้องขังทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรฯ ที่นอนไม่ได้สติอยู่ที่พื้นห้องหลายครั้งจนกระทั่งสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย

หลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายยืนยันว่าประสงค์จะดำเนินคดีจนถึงศาลสูงสุด โดยจะยื่นฎีกาในประเด็นค่าเสียหายต่อศาลฎีกาต่อไป และมีความกังวลกับการดำเนินคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด ที่ ป.ป.ท. รับเรื่องไว้แล้ว โดยเห็นว่าคดีมีความล่าช้าทั้งที่ข้อเท็จจริงมีการพิสูจน์ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์ในการไต่สวนการตายชัดเจนแล้วถึงการกระทำความผิด

จึงขอเรียกร้องให้ ป.ป.ท. เร่งดำเนินคดีอาญาด้วย อีกทั้งต้องการให้กองทัพบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเคร่งครัดในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อไม่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นกรณีลูกของตนอีกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน