สช. ดึงภาคการเมือง ถกแก้ปัญหาอุบัติเหตุ หวังลดอันดับ ตายบนถนน หลังไทยติดที่ 9 ของโลก

ตายบนถนน – ประเทศไทยติดอันดับการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยลดลงจากอันดับที่ 2 แต่อุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ ยังถือเป็นถือเป็นอันที่ 1ของโลกอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิได้นิ่งนอนใจ

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายสาธารณะว่าด้วย “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” โดยดึงนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเสนอแนะวิธีแก้ไข หลังมีการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่บรรลุผล

ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ในวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็น วันที่ 2 ของการจัดงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561

โดยเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายสาธารณะว่าด้วย “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน”ได้รับเกียรติจาก น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นพ.แท้จริง ศิริพาณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และนางเจนจิรัสตรา วงศ์ประทุม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.อุดรธานี รวมถึงตัวแทนจากพรรคการ อย่าง อ.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ พรรคอนาคตใหม่, นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ พรรคประชาธิปัตย์, นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ พรรคเพื่อไทย ร่วมให้คามคิดเห็นอีกด้วย

สถิติอุบัติเหตุทางถนนเป็นเหตุความสูญเสียที่สำคัญของประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันไทยขึ้นอันดับ 1 ใน 10 ของโลก กรณีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยใน 1 ปี มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนกว่า 20,000 คน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาสุขภาพในหลายมิติ

อาทิ การสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา อัตราการเพิ่มขึ้นของคนพิการที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ฯลฯ ประเมินเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านต่อปี

ที่สำคัญไปกว่านั้น ปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นปัญหาระดับชาติมาเป็นเวลานาน มีนโยบายระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาหลากหลายนโยบาย แม้แต่การรณรงค์จากภาคต่างๆ อาทิ ปีแห่งการสวมหมวกกันน็อค ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางท้องถนน และได้เข้าสู่มติสมัชชาชาติมาตั้งแต่ปี 2552 มีการแก้ปัญหามาแล้วหลายวิธี

แต่กลับพบว่า ท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ ทำให้มีการวิเคราะห์ว่าต้องอาศัยการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นที่ และให้บทบาทกับท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องจากตามสถิติ พบว่าอุบัติเหตุเกิดในถนนเส้นรองมากกว่าถนนสายหลัก มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากจักรยานยนต์

จึงเกิดแนวคิดให้ท้องถิ่นมาร่วมจัดการกับอุบัติเหตุทางท้องถนนด้วยตนเอง โดยมีการวางแผนการจัดการไว้เป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1.นโยบายที่จะสนับสนุนการจัดการของท้องถิ่นในอนาคต และ 2. แนวทางที่จะขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคการเมืองต้องให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการเข้ามาแก้ไข

โดยเราจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการเข้ามาแก้ไข มีงบประมาณในการจัดการ มีระบบติดตามกำกับ และจะต้องมีการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยการผลักดันกฎหมายในส่วนของพื้นที่ ซึ่งนโยบายของพรรคการเมืองจะสะท้อนภาพเหล่านี้ออกมาให้เห็น

และจะสอดคล้องกับผลของซุปเปอร์โพลที่เผยว่า 2 ใน 3 ของประชาชนอยากเห็นนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆจะแก้ไขเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างไร ซึ่งแน่นยอนว่านโยบายเหล่านี้จะมีผลถึงเรื่องการเมืองในอนาคตต่อไป

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนถือเป็นภัยที่คุกคามชีวิตของประชาชนคนไทยถึงกว่า 3 หมื่นคนต่อปี ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ เพราะนอกจากการสูญเสียชีวิตแล้วยังทำให้เครดิตของประเทศไทยต้องเสียไปด้วย

ที่ผ่านมานั้นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเคยมีมติในเรื่องนี้อยู่แล้วรวมถึงได้มีการขับเคลื่อนไปแล้วพอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้ผล เราจึงอยากฟังนโยบายในภาคการเมืองซึ่งก็ได้รักการตอบรับเป็นอย่างดี และวันนี้เราได้รับฟังแนวคิดในเรื่องการแก้ไขจากนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีข้อเสนอน่าสนใจหลายๆแนวคิด

ซึ่งต่อไปเราก็อยากจะเห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างภาคการเมืองกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นการเมืองภาคพลเมืองผนึกกำลังกันแก้ปัญหาด้านอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้จุดแข็งของเราอยู่ที่ภาควิชาการทำให้เรามีข้อมูลในการแก้ปัญหามากมาย

แต่ที่ยังแก้ปัญหาต่างๆไม่ได้เพราะการบังคับใช่กฎหมาย หรือในเรื่องของจุดเสี่ยงภัยตามโค้งซึ่งเป็นปัญหาในด้านวิศวะกรรมซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จุดที่อ่อนที่สุดที่ต้องเร่งแก้ไขจริงๆคือในด้านของสังคมที่ยังขาดการตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตรงนี้เราจึงต้องช่วยให้ภาคประชาชนเปลี่ยนจากการเป็นผู้ชมมาเป็นผู้แสดง

ซึ่งต้องใช้เทคนิค กระบวนการซึ่งตรงนี้สมัชชาฯมีอยู่แล้ว และในปี 62-63นี้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะขอชูธงเข้ามาแก้ไขเพื่อเอาชนะปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยใช้เครื่องมือและหน่วยงานทั้งหมดที่มีอย่างทรงประสิทธิภาพที่สุดในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ผลากขึ้น

สำหรับงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพในโลกยุค 4.0 ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว รวมถึงกิจกรรมน่าเรียนรู้ นิทรรศการ และห้องเสวนานโยบายสาธารณะที่น่าสนใจอีกมากมาย

สำหรับประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2561และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samatcha.org หรือ FB : เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน