คนทุ่งสง ค้านสร้างเขื่อนวังหีบ ยันชาวบ้านอยู่มาเป็นร้อยปี จี้ยุติโครงการกระทบผืนป่าโบราณ

ค้านสร้างเขื่อนวังหีบ – หลังจาก ครม.อนุมัติให้มีการสร้าง “เขื่อนวังหีบ” ในพื้นที่ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยอ้างว่าต้องสร้างเขื่อนเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ก็มีเสียงต่อต้านออกมาจากประชาชนในพื้นที่ และเครือข่ายนักอนุรักษ์ ที่ยืนยันชัดเจนว่า การสร้างเขื่อนดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แล้ว ยังจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลกับธรรมชาติที่สวยงามในพื้นที่

ชาวบ้านยืนยันหนักแน่นว่าจะคัดค้านการสร้างเขื่อนอย่างถึงที่สุด พร้อมยื่นคำขาดว่า ต้องยุติโครงการดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไข

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน กรมชลประทาน โดย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ชี้แจงว่า เขื่อนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำ สำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ทุ่งสง พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 13,014 ไร่ ครอบคลุม 24 หมู่บ้าน 4 ตำบล ประมาณ 12,821 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์เพื่อรักษาระบบนิเวศ การอุปโภคบริโภค และส่งน้ำดิบเพื่อการประปาได้อีกด้วย โดยโครงการดังกล่าวผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว

ฟากชาวบ้านนอกจากรณรงค์ในข้อเท็จจริง ว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ควรสร้างเขื่อนขึ้นในพื้นที่แล้ว ทั้งยังร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยน”ปกป้องสิทธิชุมชนและผืนป่าโบราณ” หยุดเขื่อนวังหีบ ที่ริมคลองวังหีบปากทางเข้าหมู่ 1 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

โดยมีชาวบานจากจังหวัดต่างๆในภาคใต้ รวมทั้งศิลปิน และนักวิชาการ เข้าร่วมประมาณ 200 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ของทางการทั้งตำรวจนอกเครื่องแบบ ทหารและข้าราชการ เฝ้าสังเกตการณ์ ประมาณ 30 คน

นายยงยุทธ มนีฉาย ชาวบ้านวังหีบ กล่าวถึงการเรียกร้องให้หยุดเขื่อนวังหีบว่า ประชาชนคนวังหีบ อยู่อาศัย และทำกินในผืนแผ่นดินแห่งนี้มานานร่วมร้อยปี และไม่เคยคิดที่จะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเราออกไปอยู่ที่อื่น เพราะที่นี่คือบ้าน

แต่การที่รัฐบาลพยายามที่จะยึดคืนพื้นที่เพื่อนำไปสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำโดยอ้างถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเพื่อการเกษตรนั้น เป็นเหตุผลที่กรมชลประทานใช้กับทุกพื้นที่การสร้างเขื่อนของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมต่างออกมาเสนอความเห็นแย้งแล้วว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำ เพราะในหลายพื้นที่ที่มีเขื่อนอยู่แล้วก็ยังต้องประสบกับปัญหานี้ในทุกฤดูกาล ส่วนการอ้างถึงแหล่งท่องเที่ยวยิ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะบ้านวังหีบแห่งนี้มีสายธารและน้ำตกที่สวยงาม

และยังเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช และของประเทศ ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติได้ดีกว่าการนำไปสร้างเขื่อน และที่มากไปกว่านั้นคือบริเวณที่จะมีการเวนคืน และยึดคืนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินจากประชาชนเกือบ 100 ครัวเรือนนี้ คือการล่มสลายของชุมชนชนบทอีกแห่งหนึ่งที่พวกเราไม่สามารถทำใจยอมรับได้นายยงยุทธ กล่าว

การที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการปิดหูปิดตาไม่รับฟังเหตุผล และข้อเรียกร้องของประชาชนตามที่ได้พยายามนำเสนออย่างมีเหตุผลตามขั้นตอนของระบบการเมืองการปกครองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่การดำเนินการในพื้นที่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในชุมชนบ้านวังหีบอย่างผิดปกติ

ล่าสุด ยังโปรยใบปลิวของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการออกมากล่าวร้ายกับกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการ ทั้งยังอ้างถึงสถาบันเบื้องสูงอย่างไม่เหมาะสม เพียงหวังจะปิดกั้นการแสดงออกของพวกเราในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ต้องการออกมาสื่อสารกับสังคม และสาธารณะเพื่อให้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อน และความไม่ชอบธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยการสั่งยุติโครงการเขื่อนวังหีบในทันที และขอให้หยุดการคุกคามชาวบ้านในทุกรูปแบบ ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเราจะกระทำการทุกวิถีทางตามระบบประชาธิปไตย และตามสิทธิอันชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อจะคัดค้านโครงการเขื่อนวังหีบอย่างถึงที่สุด”นายยงยุทธ กล่าว

ขณะที่นายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ภาคใต้ อ่านแถลงการณ์ในนามเครือข่ายภาคประชาชน 24 องค์กร โดยระบุว่าพวกตนจะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และคัดค้านการสร้างเขื่อนวังหีบอย่างถึงที่สุด เพราะรัฐบาลอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนวังหีบโดยไร้เหตุผล

ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ เชื่อว่ากรมชลประทานไม่ได้นำเสนอข้อมูลให้รัฐบาลได้รับทราบ เพียงแต่อ้างเหตุผลว่าต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อการเกษตร และการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่เพียงเท่านั้น

หากแต่ในความเป็นจริงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอทุ่งสง และจ.นครศรีธรรมราช ที่มีทั้งผืนป่าอันเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ และมีความสวยงามเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

พวกเราติดตามสถานการณ์ของโครงการและติดตามถึงความเคลื่อนไหวของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราบางส่วนเคยลงมาเยี่ยมดูสภาพพื้นที่จริงหลายครั้ง พร้อมกับได้มีการบันทึกข้อมูล ภาพถ่าย และวาดภาพความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของพื้นที่แห่งนี้

เราจึงมีความเชื่อด้วยความสุจริตใจ บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าบ้านวังหีบไม่ควรถูกใช้เป็นพื้นที่สร้างเขื่อนโดยสิ้นเชิง และเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างความสูญเสียให้กับชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจเรียกกลับคืนได้ ดังนั้นการตัดสินอนุมัติโครงการของรัฐบาลในครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่งที่พวกเราไม่สามารถยอมรับได้”นายสมบูรณ์กล่าว

ในส่วนความเคลื่อนไหวในชุมชน ชาวบ้านได้รวมเงินกันเพื่อสร้างประตูป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในชุมชน แต่กลับมีเจ้าหน้าที่รัฐ เข้ามายึดหลักประตูไปไว้ที่สถานีตำรวจ พร้อมกับสอบถามหาตัวแกนนำ เพื่อจะจับกุมตัวไปดำเนินคดี แต่ชาวบ้านยืนยันว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่มีแกนนำ

โดยสถานการณ์ในชุมชน ยังเต็มไปด้วยความกดดัน เมื่อมีรถของเจ้าหน้าที่เข้ามาอยู่ในชุมชน 6 คัน พร้อมกันกับที่ชาวบ้านถูกกดดันอย่างหนัก ซึ่งมีความหวั่นเกรงว่า อาจเกิดสถานการณ์บานปลาย หากไม่มีการพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติในการแก้ปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน