ติดปลอกคอช้างป่า ครั้งแรกในไทย พื้นที่เขาอ่างฤาไน หวังช่วยแก้ขัดแย้งคน-ช้างป่า

ติดปลอกคอช้างป่า – เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย น.ส.เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผอ.องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF) นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ แถลงข่าวความสำเร็จติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่าเพื่อติดตามพฤติกรรม และการเคลื่อนที่ของฝูงช้างป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนครอบคลุม 5 จังหวัด กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร ประสบปัญหาช้างป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ความเหมาะสมของถิ่นอาศัยกลับลดลง พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและเพาะปลูก ด้านชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่เข้ามาทำร้ายพืชผลทางการเกษตร ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ดังนั้นกรมอุทยานฯ จึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมใช้แก้ปัญหาดังกล่าว

การติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกของคนและช้างป่า ซึ่งหลายประเทศได้นำไปใช้และได้ผลดี จะมีการติดตามช้างป่าผ่านปลอกคอและนำข้อมูลมาใช้วางแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ร่วมกับภาคชุมชนต่อไป

โดยการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมได้นำเข้าปลอกคอชุดแรก 3 เส้นจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยความร่วมมือขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลและเครือข่ายนักวิจัยในสถาบันวิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์จากทั่วโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนี่ยน สหรัฐอเมริกา”รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว

น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวว่า WWF ให้การสนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติฯอย่างเต็มที่ในการถอดรหัสปัญหา พร้อมร่วมนำเสนอแนวทางแก้ไข ด้วยการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ โดยมีต้นแบบของกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเรื่องของช้างป่า ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย

ทั้งนี้ WWF และ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกันดำเนินงานวิจัยที่จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าที่เกิดขึ้น รวมถึงลงพื้นที่ทำงานติดตั้งปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่าเพื่อวางแผนรับมือกับปัญหาจากช้างป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งทีมงานลงพื้นที่ติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่า ในพื้นที่ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.61 โดยทีมเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินของช้างป่าก่อนหน้าจะลงมือปฏิบัติการ และวางตัวเป้าหมายอย่างชัดเจน

ขณะที่ นายศุภกิจ ระบุว่า ชุดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม โดยมากมักนำมาใช้กับสัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ในระยะไกล และหาตัวได้ยาก โดยสัญญาณจะถูกส่งไปยังระบบดาวเทียม โดยมีทั้งระบบจีเอสเอ็ม และ อิเรเดียม และส่งผ่านข้อมูลลงมายังแม่ข่ายภาคพื้นทีดิน ก่อนจะส่งต่อมายังผู้รับ

โดยอุปกรณ์นี้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะให้ความแม่นยำความแม่นยำ และผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายผ่านระบบอินเทอร์เนต คืออ่านค่าตำแหน่งของปลอกคอช้างได้ และรู้พิกัดของช้างที่ค่อนข้างแม่นยำ องค์ประกอบของอุปกรณ์ชุด ปลอกคอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์สำหรับส่งสัญญาณ แบตเตอรี่ และเครื่องส่งสัญญาณที่มีอายุการใช้งาน 5-10 ปี รวมทั้งสายรัด ที่ทำจากโพลีเมอร์ ผสมยางพารา มีความคงทน และยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเมื่ออายุการใช้งานประมาณ 6-7 ปี

เบื้องต้นเราจะเฝ้าสังเกต และเฝ้าระวังในกรณีช้างออกจากป่า ข้อมูลพิกัดของช้างที่ส่งมาแบบทันท่วงทีจะทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตำแหน่งของช้างป่าได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ เพิ่มศักยภาพในการป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่าได้ทันท่วงทีทั้งยังช่วยให้ชุมชมรับรู้ตำแหน่งของช้างป่า

ตลอดจนการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถป้องกันตนเอง และเฝ้าระวังช้างป่าได้ดียิ่งขึ้นชุมชนก็จะป้องกันตนเองได้ดีขึ้น ช้างก็จะปลอดภัยมากขึ้นนายศุภกิจ กล่าว

หน.สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ กล่าวย้ำว่า โครงการติดปลอกคอช้างป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นต้นแบบของความพยายามในการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าในมิติใหม่ และถือเป็นการทำงานครั้งแรกที่จะนำไปสู่ การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน