เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเวทีเสวนาเรื่อง “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เพื่อไทย หรือเพื่อใคร” โดยมีดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน

ดร.ชยันต์ กล่าวว่า กรณีการระเบิดแก่งน้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์นั้น เรื่องแรกที่เราต้องตั้งคำถามคือ ในเมื่อแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากร หลายประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำไมต้องให้อำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งตัดสินใจใช้แม่น้ำโขงฝ่ายเดียว จริงๆแล้วการเกิดขึ้นของแม่น้ำโขง จัดเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐชาติ ซึ่งประชาชนลุ่มน้ำโขงใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อนเมื่อ และในอดีตก่อนการเป็นรัฐชาติก็ไม่เคยมีปัญหาเหมือนครั้งนี้ เพราะไม่มีชาติใดใช้อำนาจจัดการทรัพยากรดังกล่าวแบบเด็ดขาด

“มาถึงยุคนี้ อยู่ๆชนกลุ่มใดอ้างสิทธิ์ในการใช้ ต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะแบ่งปัน ทรัพยากรอย่างยั่งยืนอย่างไร เช่น เรื่องการเก็บภาษีร่วมกันเพื่อให้ทุกประเทศมีบทบาทในการดูแล และให้ประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันได้ทำข้อตกลงว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไร ทีนี้พอมาถึงในส่วนของความพยายามของจีนนั้น กรณีที่จะระเบิดแก่งคอนผีหลง เราต้องตั้งคำถามว่าเกาะแก่งมีข้อดีอย่างไร ซึ่งเกาะแก่งที่เรามองว่าดีนี้ นักการเมือง นักธุรกิจ นักลงทุน มักมองว่า เกาะแก่งไม่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่ที่ผ่านมามีฝ่ายวิชาการเสนอข้อมูลออกมาแล้วว่ามันมีประโยชน์อย่างไร เช่น คอนผีหลง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา สัตว์เล็ก สัตว์น้อย ถ้าระเบิดแก่งแล้ว ตะกอนจะไปทับถม หลุม แหล่งเพาะพันธุ์ เป็นต้น” ดร.ชยันต์ กล่าว

ดร.ชยันต์ กล่าวด้วยว่า ถ้าเรามองพี่น้องที่อยู่ในลาว ในกัมพูชา หรือในไทยก็ดีที่อาศัยอยู่ในชุมชน ทุกคนหากินโดยหาปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และได้รับโปรตีนจากปลาเหล่านั้น ก็อาจจะพูดได้ว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนส่วนสำคัญ และคนในชุมชนจำเป็นต้องอาศัยแม่น้ำแห่งนี้ เพราะคนในชุมชนไม่นิยมบริโภคอาหารจากฟาร์ม

“อย่างไรก็ตามในกรณีการระเบิดแก่งที่จีนมีความพยายามทำมาโดยตลอด เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า การลงทุนของจีน มีความหมายอย่างไร ตอนนี้เส้นทางขนส่งของจีนแห่งสำคัญจากคุณหมิง มาไทยที่ด่านเชียงของ จากการที่ผมได้รู้จากเพื่อนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า รายได้ที่ส่งสินค้าจากไทยไปจีนนั้น แม้ตัวเลขจะสูงถึงปีละ 14,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เข้าไทยทั้งหมดนะ เพราะพ่อค้าจีนมาลงทุนในไทยจำนวนมาก เช่นแถวจันทบุรีมีพ่อค้าผลไม้มากมาย” ดร.ชยันต์ กล่าว

นักวิชาการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) กล่าวด้วยว่า โครงการระเบิดเกาะแก่งเป็นการขยายอิทธิพลของจีนเพื่อสร้างทุนจีนในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อขยายทุนแบบเสรีนิยมมากขึ้น โดยอาจจะต้องการซ่อมแซม ปรับปรุง เส้นทางทางน้ำ เส้นทางขนส่ง เป็นการขยายตัวโดยการใช้อำนาจผ่านพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทุนขอจีนเข้ามาง่ายขึ้น

มีนักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าดูจากการสร้างบ่อน ปลูกกล้วย ปลูกยางพาราในลาว โดยการเช่าที่ดินระยะยาวเป็นการแผ่อิทธิพล เพราะเช่ามากถึง 50-90 ปี คือสร้างอธิปไตยทางดินแดน ประเด็นนี้ต้องคุยกันเรื่องกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิทางอาณาเขต ว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่ง เราจะต้องมารู้ด้วยว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่และไม่ควรปล่อยรัฐตัดสินใจฝ่ายเดียว

ด้านนายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล นักกฎหมายจากศูนย์กฎหมายชุมชน กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศก็จริง แต่เราต้องระมัดระวังหลายอย่างเช่น หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจนั้นมีไม่กี่หน่วยงาน ถ้าเป็นของไทย คือกรมเจ้าท่า ส่วนมหาอำนาจต่างประเทศ ก็คือประเทศจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการสำรวจ ซึ่งกรณีเป็นแม่น้ำใหญ่ขนาดนี้ในการทำอะไร ควรจะต้องมีการทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) แต่กลับไม่มี

“ประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกต คือสำหรับกฎหมายในประเทศตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อกรณีการระเบิดแก่งนั้นหากกรมเจ้าท่าต้องการทำโครงการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสำรวจหรืออะไรก็ตาม มีกฎหมายสองเรื่องที่ต้องดู คือพระราชบัญญัติ (พรบ.) สภาตำบลและ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปี 2537 ซึ่งให้อำนาจอบต.ดูแลรักษาพื้นที่ท้องถิ่น และกำหนดด้วยว่า ถ้าหน่วยงานไหนต้องการดำเนินการในพื้นที่นั้นๆ ต้องปรึกษา อบต.ในพื้นที่ อีกกฎหมายคือ ตาม พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ที่ให้อำนาจกรมเจ้าท่าดูแลบำรุงรักษาทางน้ำ ทางเดินเรือ ถ้าดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ต้องขอให้อบต.และพื้นที่ให้ความเห็นชอบก่อน” นายเล่าฟั้ง กล่าว

ขณะที่รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นรัฐบาลไทยกับการปกป้องทรัพยากร ประชาชน และอธิปไตยของชาติว่า ส่วนตัวไม่ได้ศึกษาเรื่องแม่น้ำโขงโดยตรง แต่เท่าที่ได้มีประสบการณ์และทำความรู้จักแม่น้ำโขงมา อยากเสนอว่าการจะต่อสู้เรื่องแม่น้ำโขงต้องโยงเข้าเรื่องการเมืองด้วย

ต้องขอย้อนไปก่อนว่าสังคมไทยหลังปี 2540 คือการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ทั้งหมด และขณะนั้นไทยได้สร้างกลไกในทางกฎหมายให้มีการเกิดขึ้น โดยหวังว่ามีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเรื่องทรัพยากรชัดเจนว่า ทรัพยากรนั้นไม่ใช่เรื่องอะไรที่รัฐจะทำอะไรโดยชอบฝ่ายเดียว และการทำอะไรก็ตามเกี่ยวกับทรัพยากรต้องมีการปรึกษาหารือ แต่หลัง ปี 2557 นั้นต้องบอกว่าสิ่งที่ทำมาจากปี 2540-2556 ถูกทุบเละหมดเลย คือมันพังไปหมด

“ขอโทษนะครับแม้แต่ศาลปกครอง ยังออกมาให้ข่าวเลยว่าจะไม่ไปยุ่งกับมาตรา 44 และผมพูดเลยว่าหากจัดวางเรื่องนี้ลงในความขัดแย้งแบบภาพรวม เราต้องเอาเรื่องนี้ไปวาง ในคาบความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเห็นการต่อสู้แค่ในคนบางกลุ่มเท่านั้น ขอยกภาพง่ายๆ ให้คิดตาม คือหลังปี 2557 มีกลุ่มทางการเมือง 3 กลุ่ม คือ 1.เสื้อแดงฝักใฝ่ฝ่ายเดียว ชอบชมการเมืองพรรคเดียว 2.กลุ่มรัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแบบปัจจุบันนี้ 3.กลุ่มชาวบ้าน ชุมชน ที่ค่อยๆขยายเรื่องการต่อสู้ เช่น เรื่องการต้านแผนทวงคืนผืนป่า การค้านโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งต่อสู้กันอยู่แม้คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมาชัดๆ ตามมาตรา 44 ว่า สร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่ต้องมี EIA ไม่มีการตรวจสอบ คือมาตรา 44 สร้างวิธีบริหารแบบ one Stop Service รวดเดียวจบ กลุ่มหลังนี้คือยังสู้ เพราะเชื่อในสิทธิพลเมือง ไม่ได้สู้เพราะการเมือง แต่มีการเมืองมาเกี่ยวด้วยบ้าง” รศ.สมชาย กล่าว

รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า ถ้าเราจะเอาเรื่องระเบิดแก่งมาสัมพันธ์การเมืองภาพรวม เราจะเห็นว่า มีเรื่องหนึ่งที่เห็นคือ อำนาจรัฐไม่ใช่การเข้ามายุติความวุ่นวาย แต่อำนาจรัฐตอนนี้เข้ามาปรับเปลี่ยนมิติเชิงนโยบาย และที่สำคัญ คือมีผลกระทบต่อกลุ่มคนอย่างกว้างขวาง เรื่องแบบนี้ คือรัฐทำโดยอาศัยกฎหมาย หรือบีบกฎหมายเพื่อขยายอำนาจ แล้วทีนี้พอเราจัดวางความขัดแย้งเรื่องการแก้ปัญหาของชาวบ้านเข้ากับการเมืองเสร็จปุ๊บ เราจะเห็นว่านโยบายรัฐตอนนี้คือพยายามคุมทุกอย่าง

ดังนั้น ถ้าเราเอากฎหมายไปค้าน ไปเถียงเรื่องระเบิดแก่ง คงไม่ได้ เราจำเป็นต้องอาศัยอำนาจนิยมเชิงเครือข่ายเพื่อยื้อโครงการไว้ เช่น กรณีมติครม.ที่ออกมานั้นเราเห็นว่า มติครม.เป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่คำถามคือมติครม.ไม่ใช่กฎหมาย แล้วเราจะทำอะไรได้ เมื่อรัฐใช้มติครม.เพื่อทำอะไรบางอย่าง ขอให้เรารู้ว่า รัฐใช้เพื่อยื้อเวลาเช่นกัน ในที่นี้คือยื้อเวลาในการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระหว่างนี้ภาคประชาชนต้องขยายอำนาจของตนเองเพื่อคัดค้านไว้ก่อน จะช่วยให้อำนาจรัฐอ่อนแรงลง

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวด้วยว่า กรณีกฎหมายระหว่างประเทศนั้น จะมีผลอย่างไรบ้าง อธิบายให้ชัด คือ กฎหมายระหว่างประเทศนั้นเอาเข้าจริงมันไกลตัวมาก เพราะกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเพียงแค่ข้อตกลงเท่านั้น เราพึ่งพาได้ไม่ได้มากนัก แนะนำว่าการสานกันของเครือข่ายจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้พอมีความหวังอยู่บ้าง และเป็นความหวังในทุกเรื่อง เพราะสังคมไทยไม่ใช่การปฏิรูป และแน่นอนว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จะเป็นการปฏิสังขรณ์ คือการสร้างบ้านเรือนหลังใหม่ จากซากปรักหักพัง

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่าย เพราะจีนขยายอำนาจมาอยู่ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น การกดดันประเทศต่างๆให้ ยอมรับ ยอมทำตามเป็นเรื่องน่ากลัว ทำให้เครือข่ายน้ำโขงตอนล่างแทบหมดอนาคตเลย

“การระเบิดแก่ง เราควรยื้อไปให้นานที่สุดให้เวลาขยายเพื่อให้การเมืองฟื้นตัวมาได้ และทำให้คนตัวเล็ก ตัวน้อยอยู่ได้ คือต้องให้คนในสังคมรู้ว่ารัฐบาลทหาร คือเขาจะแอบอิงอยู่กับผลประโยชน์การเมืองที่เขาเล่นอยู่ การที่เขาก้มหัวให้จีน เพราะหลายประเด็นเขาหงุดหงิดฝรั่ง อย่างอเมริกา ยุโรป เขาออกมาบ่นเราเป็นเรื่องธรรมดา คือสถานการณ์หนักหน่วงมากๆ อย่างพี่น้องลาว คือระบบเศรษฐกิจตกในมือจีนเกือบ 60 เปอร์เซ็น เขาหนักกว่าเราอีกนะสิ่งที่ต้องทำ คือสร้างความคาดหวังของภาคประชาชนให้อยู่ในกลุ่มประเทศเรามีเสียงต่อรองมากขึ้น

เราต้องยอมรับว่าภาคประชาชนที่เข้มแข็งทาสุดในภูมิภาคนี้ คือไทย แต่ไม่ได้เข้มแข็งมากที่สุด เราเคยเข้มแข็งกว่านี้เมื่อก่อนเราดึงชนชั้นกลางมาร่วมเยอะ เราตั้งคำถามเสมอว่า ทำอย่างไรจะให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสังคม ความหวังของเรา คือเราต้องยื้อให้ถึงที่สุดให้ประชาชนได้ตระหนักเรื่องนี้ ตัวผมเองตามข้อมูลของเขมร เราติดตามภาษาอังกฤษ คือยังไม่มี เขมรอาจจะโดนหนักที่สุด

ดังนั้น ถ้าเรายื้อได้นานเท่าไหร่ กำลังประชาชนเราจะปลุกภาคประชาชนให้ตื่นขึ้นเพราะตอนนี้ชนชั้นกลาง คนในเมืองเขากำลังหลับตาให้เรา ผมเชื่อว่าการต่อสู้ของภาคประชาชน หลังจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เราจะทำให้ภาคประชาชนตื่นตัวและขยายอำนาจประชาชนไปสู่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อพึ่งพาพลังประชาชน ในช่วงที่เราพึ่งอำนาจรัฐไม่ได้ แต่ทำให้อ่อนลงได้ เพื่อรักษาทรัพยากรล้ำค่าของมนุษยชาตินี้” ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว

ในตอนท้ายของการเสวนา นักวิชาการ 3 คนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยเริ่มจาก 1.รศ.สมชาย 2.ศ.ดร.อรรจักร์และ 3.ดร.ชยันต์ ตามลำดับ ในอนาคตเรื่องการระเบิดแก่งอาจจะนำไปสู่การได้ประโยชน์เสียประโยชน์ต่างๆ อย่างไรผมคิดว่ากรณีนี้ไม่ใช่การตอบแค่ว่าไทยได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องทรัพยากรที่ต้องเสียไป และเป็นสิ่งที่เสียไปแล้วไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจนอกจากจะต้องการรับฟังความคิดเห็นแล้ว รัฐบาลต้องใช้ความรู้ ซึ่งการจะใช้ความรู้ได้ต้องยอมรับฟังข้อมูลจากส่วนต่างๆ ทั้งในแง่ของทรัพยากรเศรษฐกิจ ทั้งแง่ของผลกระทบต่อชุมชน และวัฒนธรรมต่างๆ คือว่าเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนในสังคมสามารถแสดงเจตจำนงค์ออกมาเรียกร้องได้

เราหวังว่าผู้นำประเทศของเราจะเข้าใจว่า เราควรจะทำทุกอย่างเพื่ออนุชนรุ่นหลัง การระเบิดแก่งไม่ใช่เพียงแค่การระเบิดแก่ง แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศทั้งหมดที่สำคัญต่อพี่น้องประชาชนรวมทั้งคนในกรุงเทพฯ ด้วย

นอกจากนั้นผมอยากจะเรียกร้องให้พี่น้องชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง ช่วยกันสนใจปัญหานี้มากขึ้น เราไม่ได้ทำคลองหรือสระว่ายน้ำในบ้าน แต่เรากำลังทำสิ่งที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและสังคม เราหวังว่าพลังของสังคมไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเข้มแข็ง จะมาช่วยกันพิทักษ์รักษาทรัพยากรให้แก่คนรุ่นหลังในโลกของเรา

ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีที่ใช้คำว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นำเอานโยบายนี้มาใช้ให้เป็นจริง หมายความว่าถ้ารัฐบาลต้องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้ากับทุนต่างประเทศอย่างจีน ต้องคำนึงถึงชุมชนที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าป่าที่ดินหรือแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนรักษาสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน หรือว่ามีความมั่นคงในการดำรงชีวิต รวมทั้งความมั่นคงของทรัพยากร กลุ่มคนอยากฝากความหวังไว้ก็คือพี่น้องประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน