เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ก.พ. ที่ท่าเรือผาถ่าน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรม “ฮอมบุญ ฮอมปอย หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” เพื่อรณรงค์ต่อต้านโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงหรือการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยประเทศจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานนั้นเครือข่ายภาคประชาชนเปิดซุ้มรับลงชื่อคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยมีประชาชนให้ความสนใจร่วมลงชื่อจำนวนมาก ทั้งยังมีการติดป้ายคัดค้านการระเบิดแม่น้ำโขงทั้งภาษาไทย จีน ลาว อังกฤษ บริเวณท่าเรือ เช่น ป้ายที่มีข้อความว่า “ฮอมบุญ ฮอมปอย” “หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” “ปกป้องแม่น้ำเพื่อมนุษยชาติ” ฯลฯ

อีกทั้งมีนิทรรศการภาพวาดและภาพถ่ายหลายมุมมองที่เกี่ยวกับ ความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงาม และกิจกรรมต่างๆที่สื่อความหมายถึงการอนุรักษ์แม่น้ำโขง พร้อมมีเวทีการแสดงทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ขับซอโดยวงแม่ทองสร้อย การแสดงดนตรีของวงหลืบผา กิจกรรมพื้นเมืองโดยชาวลาหู่ เป็นต้น โดยมีนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เป็นผู้นำจัดกิจกรรมที่สำคัญอย่าง เช่น ทำพิธีกรรมเลี้ยงเจ้าพ่อผาถ่าน และปักตุงไจย (ธงชัย) เพื่อประกาศปกป้องน้ำโขง ทั้งนี้ ในระหว่างจัดกิจกรรม ทางคณะผู้จัดงานได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ขึ้นประกาศเจตนารมณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการระเบิดแก่งน้ำโขง ต่อเนื่อง

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า งานครั้งนี้ประชาชนที่ให้ความร่วมมือทุกคน คือผู้นำเปิดกิจกรรม คือผู้มีส่วนร่วมปกป้องแม่น้ำโขงที่มีประชาชนเป็นเจ้าของคน 60 ล้านคน งานวันนี้ไม่ใช่งานวันแรกหรือวันสุดท้ายของการต่อสู้ภาคประชาชน แต่เป็นอีกวันที่น่าจดจำเหมือนอดีตที่ผ่านมา และในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นขอบคุณน้ำใจจากทุกท่านที่มาร่วมงานฮอมบุญ ฮอมปอยฯ ด้วย ขอให้ทุกคนพึงรู้ไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เรามีความเข้มแข็งใครก็ทำลายเราไม่ได้

นายเตชพัฒน์ มโนวงศ์ เลขาธิการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง นำอ่านแถลงการณ์ในเวทีมีเนื้อหาโดยสรุปว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะที่ 2 เพื่อเปิดทางให้เรือจีนเข้ามาในลาวนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อแม่น้ำโขงอย่างเดียวแต่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำอิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขง หากระดับน้ำโขงไม่ขึ้นสูงสุดจะไม่มีน้ำไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขาเลย พันธุ์ปลา พืชพันธ์ต่างๆต่างที่เกิดขึ้นในแม่น้ำอิงก็จะโดนทำลายไปด้วย และระดับน้ำที่กล่าวนี้จะส่งกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำอิงด้วย สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงจึงไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งน้ำโขง

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยได้ให้ความเห็นว่า การต่อต้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงนั้นกระทำโดยผู้ไม่หวังดีก็ตาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ตนได้พบกับปลัดกระทรวงมหาดไทย และชี้แจงไปแล้วว่า การคัดค้านการระเบิดแก่งเป็นพลังบริสุทธิ์โดยภาคประชาชน ซึ่งปรารถนาจะปกป้องแม่น้ำโขงอันเป็นทรัพยากรของทุกคน และกสม.เองได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนไว้แล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 และกสม.จะเร่งนำเรื่องเข้าที่ประชุมของอนุกรรมการด้านทรัพยากรฯ โดยจะเชิญตัวแทนทุกฝ่ายเข้าชี้แจง อาทิ กรมเจ้าท่า และทางภาคท้องถิ่นเข้าร่วม เร็วๆนี้

“เชื่อเลยนะคะว่าประชาชนไม่มีเจตนารมณ์ใดๆที่ไม่ดี แต่ห่วงเรื่องทรัพยากร เท่านั้นและการกระทำของทุกคนในวันนี้ คือทำตามสิทธิประชาชนในรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งเรื่องระเบิดแก่งนี้ เมื่อครั้ง กสม.ชุดแรกเข้ามาทำงานก็ได้จดทำรายงานพิจารณาข้อเท็จจริงไว้และทราบว่า คณะรัฐมนตรียุคนั้นรับทราบแล้วว่าโครงการยุติไปแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วเดือนธันวาคมที่ผ่านมากลับมีมติ คณะรัฐมนตรีรอบใหม่ว่าให้ศึกษาโครงการอีกครั้ง ก็เข้าใจดีว่าประชาชนกังวลและตระหนกในปัญหาไม่น้อย อย่างไรขอให้กำลังใจทุกคนในวันนี้และขอให้ทำหน้าที่ของพลเมืองต่อไป” นางเตือนใจ กล่าว

ขณะที่ นายประนอม เจิมชัยภูมิ ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การระเบิดแก่งน้ำโขงไม่ได้ทำลายแค่ทรัพยากรเท่านั้น แต่ทำลายเศรษฐกิจฐานรากด้วย และเป็นการเปิดทางให้ประเทศจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางการเมือง การทหาร และยึดอำนาจเศรษฐกิจของไทย

“จีนต้องการระบายสินค้าจากประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้าบ้านตัวเอง ถามว่าคนไทยได้อะไรบ้าง เราไม่มีได้เลย มีแต่เสียกับเสีย ทีนี้ถ้าถามว่าทำไมเราต้องคัดค้านตั้งแต่ระดับการศึกษาข้อมูล ก็เพราะว่าประวัติศาสตร์สอนเราให้รู้ว่า รัฐบาลไทยไม่ว่าจะศึกษาอะไรก็ตาม โครงการใดก็ช่าง คำตอบชัดเจนของการศึกษา คือ ต้องศึกษาให้ผลออกมาดี เหมาะสม ถูกต้อง อย่างการศึกษาระเบิดแก่งนี้เรารู้อยู่แล้วว่าผลออกมามันจะต้องให้คำตอบว่า น่าจะระเบิด ไม่มีทางจะเป็นอื่นแน่ๆ การศึกษาความเป็นไปได้ การเอาเรือมาสำรวจจึงเท่ากับว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเตรียมการระเบิดแก่งน้ำโขงเท่านั้นเอง” นายประนอม กล่าว

นายประนอม กล่าวด้วยว่า จากนี้ถ้าประชาชนอยากเห็นชุมชนยั่งยืน ต้องมีส่วนร่วม ในทุกกระบวนการ สำหรับความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้ไม่ขออ้างในฐานะสภาฯ คิดว่า ปัจจุบันนี้เราฝากความหวังกับรัฐบาลยุคนี้ไม่ได้ เพราะตัวอย่างมันเห็นชัดเจน เช่น ความพยายามของ ประชาชนในหลายพื้นที่ที่อยากจะมีส่วนร่วมรักษาป่า แต่รัฐบาลไม่ให้โอกาส มีแต่จะปิดทางการมีส่วนร่วมเสมอ เห็นชัดหลายประเด็นแล้วว่ารัฐบาลไล่บดขยี้พี่น้อง จนทนทุกข์ระทม อย่างมาก

ดังนั้น ความหวังในการฟื้นฟูชีวิตวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ต้องเริ่มจากประชาชนตัวเล็กเท่านั้น สำหรับสภาฯ เองเคยมีฉันทามติแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ว่า โครงการต่างๆที่ทำโดยทุนใหญ่ของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะทำลายแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน การระเบิดแก่งฯลฯ เราไม่เอาและไม่เห็นด้วย ซึ่งล่าสุดข่าวดีเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าสถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.เชียงราย) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงประกาศชัดเจนแล้วว่า ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับโครงการศึกษาการระเบิดแก่งแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน