เปิดใจ 2 อาจารย์ผู้ออกแบบ-วิจัยนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ประกอบเมรุลอยงานฌาปนกิจ หลวงพ่อคูณ เผยออกแบบให้ผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ

หลวงพ่อคูณ / เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 22 ม.ค. ที่ฌาปนสถานเมรุชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง บนเกาะกลางน้ำหลังพุทธมณฑลอีสาน ถ.เลี่ยงเมือง สายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.สิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.กิติสันต์ ศรีรักษา และนายภราดร เสมาเพชร 2 อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ออกแบบและวิจัยค้นคว้านกหัสดีลิงค์เทินบุษบก บนยอดเขาพระสุเมรุ สถานที่จัดทำพิธี ซึ่งถอดแบบตามความเชื่อเรื่องชาติภพในดินแดนสุวรรณภูมิ จำลองขึ้นเป็นป่าหิมพานต์ บนยอดเขาพระสุเมรุ ให้สัมภาษณ์ ‘ข่าวสดออนไลน์’ ถึงการออกแบบนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก

ดร.กิติสันต์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่หลวงพ่อคูณละสังขารไปแล้ว จึงเปิดพินัยกรรมที่ท่านจัดทำไว้ ซึ่งเนื้อหาระบุเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ ที่ต้องการให้จัดงานไปอย่างเรียบง่าย ทางคณะศิลปกรรมจึงนำมาตีความสำหรับงานออกแบบชิ้นนี้มาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน ซึ่งให้ความเป็นอิสระและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของท่าน โดยในงานนี้เราได้ รศ.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. เป็นประธานออกแบบและฌาปนกิจ คอยอำนวยการและตรวจตราในทุกขั้นตอน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ดร.กิติสันต์ กล่าวต่อว่า เราใช้เวลาศึกษาและออกแบบนานกว่า 2 ปี โดยได้รับการปรึกษาทางผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อต้องการแสดงออกถึงศิลปกรรมที่เรียบง่าย สวยงาม และมีเรื่องราวตามประวัติความเป็นมาของ นกหัสดีลิงค์เทินบุษบกอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังอยากนำเสนอศิลปกรรมถ้องถิ่นของภาคอีสานด้วย โดยวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรเขมร ผสานเข้ากับล้านนาและล้านช้างในภูมิภาคไทย ซึ่งมีรายละเอียดที่อาจไม่วิจิตรเทียบเท่ากับงานหลวงของภาคกลาง แต่ถือเป็นรากเหง้าที่แสดงออกถึงความเป็นอีสานได้อย่างชัดเจน

“ความเรียบง่ายในบางครั้งก็ไม่ธรรมดา เช่นตัวหลวงพ่อคูณที่ความเรียบง่ายคืออัตลักษณ์ความบริสุทธิ์ทางการกระทำต่างๆ สื่อออกมาเป็นสีขาว” ดร.กิติสันต์ กล่าว

ด้าน นายภราดร กล่าวว่า โดยโครงสร้างของตัวนกเป็นไม้เนื้อแข็งสูง 22.6 เมตร ใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นโครงด้านนอก แปะรอบด้วยประติมากรรมกระดาษเปเปอร์มาเช่ โดยภายในบรรจุเตาเผาฟืนไว้ประดิษบนฐานแปดเหลี่ยมกว้าง 16 เมตร มีตัวนาคหันหน้าไปแต่ละทิศ มีความยาว 5 เมตร 12 ตน และรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ 32 ตน บนสระอโนดาษที่จะเพิ่มลูกเล่นใส่ควันไอน้ำ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเผาไปพร้อมกับร่างของหลวงพ่อคูณ ก่อนจะนำอังคารของท่านไปลอยแม่น้ำโขง ที่จ.หนองคาย ตามเจตจำนง

“สำหรับเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นนั้น ผมไม่รู้ว่าเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ระหว่างที่ทำงาน เมื่อมีอุปสรรคเข้ามามักจะมีบางอย่างที่ทำให้งานราบรื่นมาโดยตลอด และก่อนจะมีโครงการนี้ ผมเคยฝันว่ามีคนเรียกให้เข้าไปหา ต้นเสียงมาจากใต้ถุนโรงเรียน พอเข้าไปก็พบเป็นหลวงพ่อคูณ ท่านก็เคาะหัวให้ผมหนึ่งที แล้วผมก็มาทำโครงการนี้ ผมเชื่อว่าบารมีของหลวงพ่อคูณ ทำให้พวกเราสามารถทำงานออกมาได้อย่างสำเร็จและสวยงาม” นายภราดร กล่าว

ด้าน รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คํา คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ประธานออกแบบและฌาปนกิจ กล่าวถึงขั้นตอนการออกแบบงานศิลปกรรมต่างๆ ที่อยู่ภายในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า เมื่อตนได้ทราบว่าได้เป็นผู้ออกแบบงานศิลปกรรมภายในงานนี้ ตนรู้สึกดีใจและรู้สึกโชคดีเป็นอย่างมาก จึงตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ สำหรับขั้นตอนการคิดและออกแบบงานศิลปกรรมต่างๆนั้น ร่วมมือกับช่างฝีมือที่ชำนาญเฉพาะทางหลายฝ่าย

โดยคำนึงถึงพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ เป็นหลัก คือท่านต้องการความเรียบง่าย เราจึงมีการตีความ ในความเรียบง่ายจะต้องมีความสวยงาม ให้สมกับชื่อเสียงของหลวงพ่อคูณ โดยเราสร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ ตามประเพณีโบราณที่จัดขึ้นเฉพาะการฌาปณกิจศพเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ นอกจาก ภายในงานมีศิลปกรรมที่สวยงามแล้ว ขั้นตอนของการฌาปนกิจจริง ก็จะต้องคำนึกถึงตำนานป่าหิมพานต์ด้วย

“สำหรับตำนานของนกหัสดีลิงค์นั้น เริ่มจากตํานานโบราณของนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร ที่เล่าขานต่อกันมา เมื่อพระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง จากนั้น นกหัสดีลิงค์ที่เป็นนกขนาดใหญ่ ตัวโตเท่าช้าง เรียกชื่อตามเจ้าของภาษาว่า หัตถลิงคะสะกุโณ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกําลังดั่งช้างเอราวัณ 3-5 เชือกรวมกัน บินโฉบลงมาเอาพระศพไป

เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดี เข้าต่อสู้เพื่อเอาพระศพคืนมา นางสีดาจึงเข้ารับอาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ โดยใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตาย ตกลงมาพร้อมพระศพ พระมหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทําเมรุ คือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน หลังจากนั้นมาจึงถือเอาประเพณีทํานกหัสดีลิงค์ประกอบเมรุของชั้นเจ้านาย ตามความเชื่อที่ว่านกหัสดีลิงค์สามารถนําดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้” รศ.ดร.นิยม กล่าว

ด้าน ดร.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ครูช่างเมรุนกหัสดีลิงค์พระเทพวิทยาคม กล่าวว่า ตนรับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างของนก ซึ่งออกแบบให้นกมีชีวิตสามารถขยับปีก ปาก งา และตาได้ ซึ่งกลไกลในการขยับนั้นมากจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยสามารถเคลื่อนได้โดยไม่ต้องมีกลไกแบบเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน หากจะขยับจะต้องใช้คนขยับถึง 8 ราย เนื่องจากมีความหนักและอาจเหนื่อยล้า เพราะพิธีกรรมค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร จึงต้องมีผลัด 2 มาเปลี่ยน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน