ชาวเลมอแกน ขอขยายที่อยู่อาศัย หลังที่เดิมแออัด พล.อ.สุรินทร์ ชี้ควรให้สิทธิ เพราะอยู่มาก่อน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการฟื้นฟูชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา หลังหมู่บ้านถูกไฟไหม้กว่า 60 หลัง ซึ่งทางจังหวัดและอุทยานฯกำลังเร่งสร้างบ้านหลังใหม่

แต่หลายฝ่ายยังกังวลเรื่องแบบบ้านและพื้นที่ที่ชาวเลอยู่กันอย่างแออัดและไม่มีการขยายเพิ่มขึ้น ว่าก่อนจะเดินหน้าอะไรควรสร้างความเข้าใจหรือหลักคิดให้ตรงกันก่อนว่า 1.ชาวเลอยู่ในพื้นที่อันดามันมาก่อนตั้งประเทศไทยและก่อนจัดตั้งอุทยาน ดังนั้นโดยหลักนิติธรรมแล้วไม่ควรทำอะไรที่ไปกระทบสิทธิที่มีอยู่เดิมของพวกเขา

พล.อ.สุรินทร์ กล่าวว่า 2.ต้องไม่มีการทำลายวิถีชีวิตที่ชาวเลอยู่กันมายาวนาน หรือหากมีการอนสิทธิก็ต้องหาทางออกให้พวกเขาด้วย อย่างกรณีเกิดสึนามิก็มีคนใช้โอกาสกวาดชุมชนชาวเล 13 แห่งออกจากพื้นที่

เพราะฉะนั้นในการเกิดไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ก็ไม่ควรถือโอกาสกวาดต้อนชาวบ้านเพราะต้องไม่ลืมว่าชาวมอแกนอยู่บริเวณนี้มาก่อนอุทยาน ดังนั้นเขาควรได้รับสิทธิเดิมโดยการสร้างบ้านหลังใหม่ที่มั่นคงและถูกสุขลักษณะรวมทั้งถูกวิถีชีวิต เช่น อยู่ไม่ไกลจากที่จอดเรือ

“เมื่อก่อนชาวมอแกนเขาอยู่กันตามอ่าวต่างๆกระจัดกระจายแต่ถูกกวาดต้อนมาไว้ที่เดียวกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความแออัดก็ควรขยายพื้นที่ให้พวกเขา พวกเขาอยู่มาก่อนแต่คุณไปยึดเขามา ก็ควรคืนให้เขาบ้าง ผมได้โทรศัพท์คุยกับรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะต้องการให้เรียกประชุมคณะกรรมการชาวเลโดยเร่งด่วนเพื่อหยิบยกเรื่องชาวมอแกนเกาะสุรินทร์มาพิจารณา

โดยเชิญฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุทยานฯ ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฏีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนสภาทนายความ และคนอื่นๆมาร่วมหารือกัน”พลเอกสุรินทร์ กล่าว และว่าที่สำคัญคืออยากเชิญฝ่ายปกครองให้มาเป็นหลักทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามกฎหมายเพราะไม่มีกฎหมายข้อใดที่ให้อำนาจหน่วยราชการไล่คนที่อยู่ก่อนออกนอกพื้นที่

พล.อ.สุรินทร์ กล่าวว่า ชาวเลไม่ใช่แค่คนที่รอรับการช่วยเหลือเท่านั้น เขาควรอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนประชาชนทั่วไป กรณีของชาวมอแกนที่ถูกไฟไหม้ก็ควรเปิดโอกาสได้ขยับขยายบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กันอย่างแออัดหรือมัดมือมัดเท้าพวกเขาจนไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้าน นายสุริยัน กล้าทะเล ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ กล่าวว่า หากสร้างบ้านขนาดเท่าเดิมเหมือนกับที่สร้างหลังสึนามิก็ถือว่าเล็กไปหน่อยเนื่องจากปัจจุบันครอบครัวขยาย บางบ้านอยู่กัน 2 ครอบครัวทำให้แออัด ซึ่งตอนนี้คนที่บ้านถูกไฟไหม้ยังไม่รู้เหมือนกันว่าบ้านใหม่จะเป็นอย่างไรเพราะไม่มีใครถาม แต่หากทำแบบเดิมก็ควรสร้างให้หน้าจั่วบ้านเยื้องกัน เพราะเป็นความเชื่อว่าหากสร้างจั่วบ้านตรงกันจะทำให้เจ็บป่วย

“จริงๆแล้วในหาดเดิมที่ถูกไฟไหม้ยังมีพื้นที่หน้าหาดอีกมุมหนึ่งซึ่งสามารถสร้างบ้านได้อีกสัก 20-30 หลัง แต่อุทยานฯไม่อนุญาตทั้งๆที่พื้นที่เก่าอยู่กันอย่างแออัด หากขยายออกไปจะช่วยลดความแออัดได้อีกเยอะ”นายสุริยัน กล่าว

นางสุนี ไชยรส อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมไทยมีบทเรียนที่ชัดเจนในการช่วยเหลือชาวเลเมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะจากสึนามิ ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักในการช่วยสร้างบ้านและพัฒนาชุมชนให้ชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์ในวันนี้ คือ สังคมไทยทั้งเอกชนและรัฐซึ่งมีน้ำใจช่วยเหลือกันมากมาย ทั้งเงินข้าวของรวมทั้งสร้างบ้าน เป็นเรื่องที่ดีมาก

แต่ขออย่าคิดง่ายๆโดยไม่ยอมรับและเข้าใจวิถีชีวิต และไม่ยอมให้ผู้ประสบภัยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเอง และที่สำคัญอย่าโยกย้ายพวกเขาออกจากถิ่น และการออกแบบบ้านให้คำนึงถึงวัฒนธรรมของเขา การช่วยเหลืออาชีพก็ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิมด้วย รวมทั้งช่วยพิจารณาเรื่องสัญชาติให้รวดเร็วขึ้นด้วย

นายไมตรี จงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ กล่าวว่า การสร้างบ้าน ฟื้นชุมชนมอแกนหลังไฟไหม้ ควรเป็นโอกาสในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรี และการสร้างบ้านนั้นไม่ใช่การออกแบบบ้าน เพื่อสร้างบ้านเท่านั้น แต่ต้องออกแบบชุมชนตามวิถีชีวิตซึ่งความเป็นจริง ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเล ควรจัดประชุมอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงเพื่อการฟื้นฟูชาวเลด้วยกลไกกรรมการ จะทำให้ฟื้นฟูด้วยความเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางอุทยานฯได้ส่งเจ้าหน้าที่มาปักหลักและวัดพื้นที่เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านหลายคนต่างบอกว่าไม่รู้ว่าแบบบ้านหลังใหม่จะออกมาอย่างไรเพราะไม่เคยมีการสอบถามพวกตน ทำให้รู้สึกกังวลเพราะกลัวว่าจะขัดกับวิถีชีวิตของชาวเล

นายเงย กล้าทะเล ผู้ประสานงานชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งยังคงคุ้ยหาทรัพสินย์กล่าวว่า รู้สึกเสียดายทอง 1 บาทที่เก็บเงินสะสมซื้อมาได้ นอกจากนี้ยังมีเงินสดอีก 3 หมื่นบาทที่ถูกไฟไหม้ รวมแล้วทรัพย์สินที่ถูกไฟไหม้ไปเกือบ 2 แสนบาท

“ผมใช้เวลานานกว่าจะเก็บเงินและทองได้เท่านี้ ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะเก็บได้เท่านี้อีกหรือไม่ ชาวบ้านบ้างคนสูญเงินและทองมากกว่าผมอีก เราไม่รู้เลยเรื่องความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร”นายเงย กล่าว

นายเงย กล่าวว่าในเรื่องของการสร้างบ้านใหม่นั้น ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไรเพราะไม่เคยมีใครเรียกชาวมอแกนไปสอบถาม แต่โดยส่วนตัวแค่เขาสร้างใหม่ก็ดีใจแล้วซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากได้แบบเดิมคือบ้านไม้มุงหลังคาจาก แต่อยากให้ขยายพื้นที่ปลูกสร้างออกไปอีกเพราะเดิมแออัดมากโดยบางหลังอยู่กันนับสิบคน

“อยากได้บ้านไม้ที่คงทนกว่าเดิม ควรปลูกห่างกันหน่อย และหน้าชั่วต้องทะแยงกัน เราเขื่อว่าถ้ากันหน้าตรงกันจะทำให้เจ็บป่วย ที่สำคัญหากเกิดไฟไหม้จะได้ไม่เหมือนเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรสร้างเป็นสองหย่อมบ้าน”นายเงยกล่าว

นางหมี่เซียะ กล้าทะเล ผู้นำทางจิตวิญญาณ วัย 73 ปี กล่าวว่ารู้สึกเสียดายบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านที่ถูกเผาไปในกองไฟเพราะกลัวว่าเวลาเดินทางไปข้างนอกจะถูกจับ ทั้งนี้ภายหลังจากเกิดไฟไหม้ได้มีญาติพี่น้องจากเกาะต่างๆมาเยี่ยมให้กำลังใจและมีข้าวของมาฝาก

“ถ้าเขามาถามก็จะบอกว่าอยากได้บ้านคล้ายๆแบบเดิม ที่สำคัญคือต้องอยู่ติดทะเล แต่ผ่านมาแล้ว 3 วันยังไม่เห็นมีใครถาม เราได้แต่ยืนมอง”นางหมี่เซียะ กล่าว

แม่เฒ่าชาวมอแกนกล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงลูกหลานเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่กันอย่างไร สำหรับตนนั้นคงอยู่อีกไม่นาน ที่ผ่านมามีคนชวนไปอยู่บนฝั่งที่เกาะพระทอง แต่เคยไปอยู่แล้วร้อนเพราะไม่ติดทะเลในที่สุดจึงกลับมาอยู่บนเกาะสุรินทร์เช่นเดิม

“ฉันเกิดที่นี่ พ่อแม่ก็ตายที่นี่ ฉันถึงไม่อยากไปไหน แต่ละปีก็ทำพิธีหล่อโบงให้ลูกหลานได้ขอขมาผี แม้จะขาดเครื่องเซ่นบางอย่างไปบ้าง เช่น เต่า แต่เราก็ใช้ไก่แทน ฉันหวังว่าพวกเราจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่คิดว่าจะเกิดไฟไหม้ใหญ่ขนาดนี้”นางหมี่เซียะ กลาาว

ด้าน นายพุทธพจน์ คูประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.พ. ทหาร 30 นายจะมาลงพื้นที่เพื่อเตรียมสร้างบ้าน โดยพื้นที่ชุมชนจะไม่มีการขยายคือเนื้อที่ประมาณ 6.16 ไร่ เท่าเดิมโดยแบ่งบ้านออกเป็นหย่อมๆละ 20 หลังและเว้นระยะห่างระหว่างบ้านให้มากกว่าเดิม ส่วนแบบบ้านนั้นคงคล้ายของเดิมคือเป็นไม้และหลังคามุงจาก

ผู้สื่อข่าวถามว่าชาวบ้านบ่นว่าชุมชนค่อนข้างแออัดสามารถขยายพื้นที่ไปยังหาดอื่นที่ชาวเลเคยอยู่ได้หรือไม่ นายพุทธพจน์กล่าวว่า คงไม่ขยายไปที่หาดอื่นเพราะต้องการควบคุมดูแลในวิถีชีวิตโดยต้องคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

“ทุกวันนี้ชาวมอแกนมีรายได้ที่พออยู่ได้ ชาวบ้าน 50 คนทำงานรับจ้างอยู่กับอุทยานฯ ข้าวเช้า ข้าวกลางวันก็กินอยู่กับเรา อาหารเหลือก็ขนกลับบ้านได้ พวกผู้ชายก็ไปเป็นลูกจ้างบริษัททัวร์ ส่วนพวกคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านก็ทำของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว”หัวหน้าอุทยานฯกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน