มท.ออกระเบียบรายจ่ายทุนนศ. ช่วยเหลือนร.ของอปท. ดูแลเข้าถึงการศึกษา

มท. / เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยรายจ่ายเกี่ยวกับทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษา และการให้ความช่วยเหลือนักเรียน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 ขึ้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

โดยกำหนดคำนิยาม นักเรียน และนักศึกษา ผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส ที่มีสิทธิขอรับการช่วยเหลือไว้ว่า “นักเรียน” คือ ผู้ที่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา “นักศึกษา” คือ ผู้ที่เข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า “ผู้ยากจน” คือ ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน และ “ผู้ด้อยโอกาส” คือ ผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนไม่สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับผู้อื่น

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ระเบียบนี้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถตั้งงบประมาณได้ไม่เกินอัตราส่วนของรายได้จริงในปีงบประมาณที่ผ่านมาโดยไม่รวมเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้ นั่นคือ หากรายได้จริงไม่เกิน 50 ล้านบาท จะตั้งงบประมาณได้ไม่เกินร้อยละ 3 แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท หากรายได้จริงเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท จะตั้งงบประมาณได้ไม่เกินร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และหากรายได้จริงเกิน 200 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะตั้งงบประมาณได้ไม่เกินร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท

สำหรับคุณสมบัติของนักศึกษาที่มีสิทธิได้รับทุนการศึกษา และนักเรียนที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ จะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ของ อปท. ระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นนักศึกษาหรือนักเรียนซึ่งเป็นผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส

โดยให้นักศึกษา นักเรียน หรือผู้ปกครองที่ประสงค์จะขอรับทุนการศึกษาหรือการช่วยเหลือจาก อปท. ยื่นคำขอต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อส่งให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท. พิจารณาผู้ที่สมควรได้รับทุนการศึกษาและความช่วยเหลือ แล้วให้ทำการปิดประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาและความช่วยเหลือไว้ที่สำนักงานหรือที่ทำการ อปท. และที่ทำการหมู่บ้าน ชุมชน ให้ทราบโดยทั่วกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ

การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาซึ่งเป็นผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสนั้น จะต้องเป็นการศึกษาในหลักสูตรที่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า แต่ต้องไม่สูงกว่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ โดยการให้ทุนการศึกษา ให้เบิกจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษาค่าบำรุง ค่าหน่วยกิต และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามอัตราที่สถาบันการศึกษากำหนด แต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 33,000 บาทต่อคน

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่ออีกว่า การให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาของนักเรียนซึ่งเป็นผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสนั้น ในระดับเด็กเล็ก ระดับเด็กอนุบาล และระดับประถมศึกษา จะให้ได้ไม่เกินภาคการศึกษาละ 1,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 2,000 บาทต่อคน

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ได้ไม่เกินภาคการศึกษาละ 2,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 4,000 บาทต่อคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ให้ได้ไม่เกินภาคการศึกษาละ 3,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 6,000 บาทต่อคน

ด้านการเบิกจ่ายเงิน ก็ให้ผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษายืมเงินเพื่อจ่ายให้แก่นักศึกษาที่มีสิทธิได้รับทุนการศึกษา โดยนำใบสำคัญรับเงินมาเป็นหลักฐานในการส่งใช้เงินยืม รวมทั้งให้ติดตามใบเสร็จรับเงินของสถาบันการศึกษาจากผู้มีสิทธิได้รับทุนการศึกษามาประกอบฎีกาเบิกจ่ายเงินด้วย ส่วนการให้ความช่วยเหลือนักเรียน ให้ยืมเงินเพื่อจ่ายให้แก่นักเรียนที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ และให้นักเรียนหรือผู้ปกครองลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานส่งใช้เงินยืมด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน