ผู้หญิงนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หวังรัฐบาลใหม่มีประชาธิปไตย ไม่ใช่ทหารเหมือนตอนนี้

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ ห้องประชุมเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดงาน เชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้านสิทธิและความเสมอภาพทางเพศภาพ

ภายในงานได้ประกาศเกียรติยศผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิงรักษ์น้ำอูน เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผู้หญิง นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553

โดยมี Ms.Katia Chirizzi รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกล่าวแสดงความยินดี เพื่อเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนสังคมไทย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า วันที่ 8 มีนาคมนี้ เป็นวันสตรีสากล ซึ่งตนในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง สิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศสภาพ เห็นว่าสมควรที่จะมีการยกย่องให้เกียรติผู้หญิงที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบต่างๆทั้งการทำร้าย การฆ่า หรือการบังคับสูญหาย แต่ปัจจุบันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น การคุกคามทางกระบวนการยุติธรรม (Judicial Harassment) การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุติการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

นอกจากนี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามทางเพศ การคุกคามด้วยวาจา เพื่อให้หวาดกลัว

“ปัจจุบันมีผู้หญิงออกมาทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่าผู้ชาย และด้วยความเป็นหญิงทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องแบกรับภาระหลายอย่างมากขึ้น นอกจากนั้นการถูกคุกคามยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกหวาดกลัวและไม่มีความมั่นคงในชีวิต

การประกาศเกียรติยกย่องผู้หญิงที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนที่ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ เสียสละ และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าการทำงานของผู้หญิงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นต่อๆไป” นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้มีการปรับปรุงระเบียบกองทุนยุติธรรมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม

รวมถึงการคุ้มครองพยาน การให้มีกฎหมาย หรือ ให้ศาลมีอำนาจที่จะยุติการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเพื่อปิดปาก หรือ ฟ้องเพื่อไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ รวมถึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญและมีมาตรการในการคุ้มครองผู้หญิงที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น

ทั้งนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมจากองค์กรองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนลได้ระบุว่านับตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนถูกฟ้องร้องจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 225 ราย

นางพะเยาว์ อัคฮาด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรม กล่าวว่า คนส่วนมากคงรู้แล้วว่าตนต่อสู้ทั้งหมดมาเพราะเสียลูกสาวไปจากเหตุการทางการเมืองปี 2553 จากแม่ที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง วันๆเอาแต่ทำมาหากินไม่สนใจการเลือกตั้ง จนวันที่เสียลูกสาวไป

เขาเป็นอาสาพยาบาล เสียชีวิตในวัดแต่เสียชีวิตและถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แม่เป็นแม่ของผู้ก่อการร้าย เจ้าหน้าที่รัฐฯไม่เคยได้รับโทษ ไม่เคยติดคุกแม้ฆ่าคนตาย ตนจำเป็นต้องเรียกร้องสิทธิให้ลูก ให้ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการนั้น พวกเขาทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม

“ล่าสุดวันที่ 10 ธ.ค.2558 เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นวันรัฐธรรมนูญ ดิฉันได้ไปแสดงละครใบ้ให้ลูก เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปล้ววลูกคดีของลูกดิฉันที่อัยการจะทำให้คดีของลูกดิฉันและผู้ที่เสียชีวิตเป็นมุมดำให้หมดหาคนทำผิดไม่ได้ เป็นการถูกข่มขู่คุกคามครั้งล่าสุดที่ได้เจอ

ดิฉันยังมุ่งมั่นที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ยังยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมอยู่ ตอนนี้ทหหารเขาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จะทำร้ายใครเขาก็ต้องคิดเยอะขึ้น เพราะหลายอย่างเปลี่ยนไป และวันที่ 24 มี.ค. ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่แล้ว เมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการ ขอเสนอให้ปฎิรูปกองทัพ ควรตรวจสอบงบประมาณที่มอบให้กองทัพได้” นางพะเยาว์ กล่าว

ด้าน นางสาวรอซิดะห์ ปูซู ตัวแทนเครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาที่เราต่อสู้เพื่อผู้หญิงมุสลิม ความเปลี่ยนแปลงตอนนี้คือเราเห็นผู้หญิงได้เป็นผู้นำในการทำงานด้านต่างๆ มีผู้ให้โอกาส เห็นความสามารถของผู้หญิงมากขึ้น

ต่อไปกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้เครือข่ายเราได้เป็นส่วนนึงในเวทีนานาชาติเพื่อจะเป็นการยกระดับเครือข่ายของเราไปอีกระดับ และเราอยากได้พื้นที่ปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นต่อไป

ขณะที่ นางสมัย มังทะ เครือข่ายกลุ่มรักษ์น้ำอูน กล่าวว่า รางวัลที่ได้ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ เป็นกำลังใจในการต่อสู้ เป็นแรงผลักดันให้สู้ต่อไป สิ่งที่ยากที่สุด คือ ความกดดันด้านจิตใจ เพราะความเห็นต่างของคนในพื้นที่ อยากให้พี่น้องในชุมชนให้รักบ้านเรา รักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้ลูกหลานได้อยู่สบาย ต่อสู้เพื่อลูกเพื่อหลานและเยาวชนต่อไป

ถ้าเราไม่ช่วยกัน พอเราตายไปลูกหลานเราจะได้รับผลกระทบทุกด้าน ที่อยากร้องเรียกต่อไป 24 มี.ค.นี้ อยากเห็นประชาธิปไตย อยากให้ตัวแทนประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ได้เข้าไปนั่งในรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลทหารเหมือนตอนนี้เพื่อจะขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป

น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิแรงงานและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ผลักดันให้วันที่ 8 มีนาคมหรือวันสตรีสากลเป็นวันหยุดของโรงงานในทุกปี กล่าวว่า การต่อสู้ของตนเริ่มจากเป็นคนงานในโรงงาน และร่วมชุมนุมกับสหภาพแรงงานของโรงงาน ที่ผ่านมาได้เรียกร้องอย่างมากเพื่อคนทำงานได้มีสิทธิที่ควรจะได้รับในการทำงานของเรานั้นคือสิ่งที่ทำมาตลอด และจะทำต่อเนื่องไป

“หากถามว่าอยากเรียนร้องอะไรหากเรามีรัฐบาลใหม่อยากให้ ยกเลิกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่จะมากำจัดสิทธิเสรีภาพของเรา และข้อที่สองขอให้ยกเลิกพ.ร.บ.การชุมนุม เพระถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนเป็นเครื่องมือของคนจนที่ปราศจากอาวุธ เหล่านี้คือสิ่งที่อยากขอรัฐบาลใหม่ ” น.ส.สุธาสินี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน