บูรณะภาพแฝดอินจัน จิตรกรรมฝาผนัง วัดราชบูรณะ พิษณุโลก

บูรณะภาพแฝดอินจัน – ผู้สื่อข่าว ข่าวสด พิษณุโลก รายงานว่า ขณะนี้ ที่วัดราชบูรณะ อ.เมือง จ.พิษณุโลก กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร อยู่ระหว่างดำเนินการงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัด

จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดราชบูรณะ ได้รับการบูรณะครั้งก่อนเมื่อปี 2530 กระทั่งผ่านมา 30 กว่าปีภาพปรากฎความเสียหาย จากความร้อน ความชื้นจากน้ำฝน จึงเริ่มบูรณะครั้งหลังคาอุโบสถ เมื่อปี 2556 จากนั้นจึงบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังในครั้งนี้ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2562

พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ กล่าวว่า พระอุโบสถ์วัดราชบูรณะภายในมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง อายุกว่า 200 ปี ที่ถือว่าสมบูรณ์แห่งหนึ่งในเขตภาคเหนือ เป็นภาพวรรณกรรมเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ทั้ง 4 ด้าน ภาพพุทธประวัติ

ที่สำคัญคือภาพฝาแฝดอิน-จัน ฝาแฝดสยาม ผู้มีชื่อเสียงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร สังเกตเห็น ระหว่างมาเยี่ยมชมเมื่อปี 2558 ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ และเป็นหนึ่งเดียวที่ค้นพบในจิตรกรรมฝาผนังในจ.พิษณุโลก

บูรณะภาพแฝดอินจัน

สำหรับภาพเขียนแฝดอินจันดังกล่าว ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขงสาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้พบภาพโดยบังเอิญ ระบุว่าเป็นสิ่งยืนยันว่าจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดราชบูรณะนั้น เขียนไว้ในยุคปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแน่นอน

ภาพจิตรกรมฝาผนังแฝดอินจันเป็นภาพที่เขียนจากสีฝุ่น วาดด้วยพู่กันจีน ลวดลายไทย มีกิริยาท่าทางใช้นิ้วชี้ไปทางสัตว์ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นภาพผสมผสานกับวรรณคดีกับเรื่องราวปัจจุบัน ทำให้จิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชบูรณะน่าศึกษาเป็นอย่างมาก

วัดราชบูรณะ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่งของ จ.พิษณุโลก มีอายุถึงสมัยสุโขทัย วัดแห่งนี้เดิมมีอาณาเขตติดต่อกับวัดนางพญา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2502 กรมทางหลวงตัดถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก คือ ถนนมิตรภาพ ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านเข้าไปในเนื้อที่วัดนางพญาและวัดราชบูรณะ เฉียดพระอุโบสถไปอย่างใกล้ชิด จนต้องรื้อย้ายใบเสมามุมพระอุโบสถด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะไว้เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479

ก่อนหน้านี้ กรมศิลปากรเคยบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. 2528 บูรณะวิหารหลวง ปี พ.ศ. 2530 อนุรักษ์ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และปี พ.ศ. 2533 บูรณะเจดีย์หลวง โดยเสริมความมั่นคงทางรากฐาน และต่อยอดพระเจดีย์ทรงลังกาซึ่งหักชำรุดหายไปให้บริบูรณ์

การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังโดยกรมศิลปากร ในปี 2562 นี้ จะทำให้ศิลปะไทยอยู่เคียงคู่กับเมืองพิษณุโลกอีกยาวนาน

สำหรับแฝดอินจัน ฝาแฝดอิน-จัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมา นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า “นายหันแตร” เห็นแฝดคู่นี้กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง จึงคิดพาไปแสดงโชว์ตัวที่สหรัฐอเมริกา

ทั้งสองออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2372 ขณะอายุ 18 ปี และไปแสดงทั่วอเมริกา กระทั่งได้สัญชาติอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2382 ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา มีนามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) มีลูกหลานสืบตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งสองเสียชีวิตวันที่ 17 ม.ค. 2417 ห่างกัน 2 ชั่วโมง ขณะมีอายุ 63 ปี

อิน-จันเป็นแฝดมีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน เป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่ดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต ชื่อเสียงของอิน-จัน ทำให้เกิดคำเรียกแฝดตัวติดกันว่า แฝดสยาม (Siamese twins) ตามชื่อเรียกประเทศไทยในเวลานั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กาลครั้งหนึ่ง…นานมาแล้ว แฝดสยาม อิน-จัน (อวสาน) เกิดมาคู่กัน ตายเคียงกัน…ข้าขอลิขิตชีวิตข้าเองฯ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน