ชาวสตูลโวย อุตสาหกรรมจังหวัด เอาใจนายทุนเหมือง จัดรับฟังความเห็นส่อพิรุธ จี้ผู้ว่าฯสั่งโมฆะ

วันที่ 26 เม.ย. ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขอทำเหมืองหินเขาโต๊ะกรัง อ.ควนกาหลง จ.สตูล พร้อมด้วยเครือข่ายราว 30 คน เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการและอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล และยื่นหนังสือคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งให้การจัดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 18 เมษายน เป็นโมฆะ ที่สำคัญคือขอให้ยกเลิกการประกาศให้เขาลูกช้าง เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ในหนังสือระบุว่าการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้ 1. เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม กล่าวคือประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางจากการไปพักผ่อนงานวันสงกรานต์ ไม่ใช่วันหยุดราชการทำให้ผู้ที่ทำงานประจำไม่อาจจะเข้าร่วมได้ เป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอม

ทำให้นักเรียนและครูในโรงเรียนโดยเฉพาะนักเรียนหอพักที่ต้องกลับบ้านต่างจังหวัด ไม่สามารถเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นได้ทั้งที่มีโรงเรียนที่อยู่ติดกับโครงการ และเวทีจัดวันเดียวกันกับวันที่ผู้นำทางศาสนาในจังหวัดสตูลจะมีการจัดประชุมประจำเดือน ทำให้ไม่อาจจะเข้าร่วมเวทีได้

2.การส่งจดหมายเชิญประชุมเป็นไปโดยกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถเตรียมการเพื่อเข้าร่วมประชุมได้ ซึ่งปรากฏว่าผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะ (อรุณศาสนวิทยามูลนิธิ) มีภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ไม่อาจเข้าร่วมเวทีได้ จึงได้ส่งหนังสือขอให้เลื่อนการจัดประชุม แต่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลกลับตอบกลับว่า ไม่อาจเลื่อนได้เนื่องจากบริษัท ภูทองอันดา จำกัด ว่างในช่วงดังกล่าว

3.การจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลอย่างแท้จริง ดังที่กฎหมายกำหนด แต่การจัดประชุมในครั้งนี้ กลับได้รับแจ้งจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลว่า เวทีดังกล่าวเป็นการจัดโดยบริษัท ภูทองอันดา จำกัด ดังนั้น เวทีดังกล่าวนี้จึงเป็นการจัดที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

4.การจัดเวทีไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ โดยผู้คัดค้านและประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ 7 ต.ควนโดน อ.ควนโดน ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นบุคคลที่ไม่มีส่วนได้เสีย ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นมีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะอยู่ไม่ห่างจากพื้นที่เหมืองที่จะประกอบกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการเหมืองจะใช้ถนนสาธารณะของหมู่บ้านร่วมกัน

นอกจากนี้เยาวชนที่สนใจเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นก็ถูกปฏิเสธไม่ได้ให้เข้าร่วม เมื่อชุมชนที่มีความเห็นคัดค้านต้องการเข้าร่วมประชุมและร่วมลงชื่อในใบลงชื่อ กลับถูกกีดกันและถูกแบ่งแยกออกมาโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกำกับอยู่อย่างใกล้ชิดในลักษณะคุกคามมากกว่าการอำนวยความสะดวก

5.การจัดสถานที่ให้นั่งในการรับฟังความคิดเห็น มีการแบ่งแยกโดยจัดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการอยู่ด้านหลัง กีดกันไม่ให้ไปนั่งด้านหน้าเวที

6.การให้ข้อมูลสารรับฟังไม่ครบถ้วน กล่าวคือเป็นการให้ข้อมูลในด้านบวก ถึงประโยชน์ของโครงการเพียงอย่างเดียว แต่กลับไม่กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรทั้งสิ้น 7.ในการแสดงความคิดเห็นปรากฏว่ามีการจำกัดการให้ความเห็นทำให้ผู้ให้ความเห็นต่อโครงการไม่ครอบคลุมรอบด้าน

8. การเข้าร่วมของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการมีมากกว่า 80 คน และที่สามารถลงชื่อไว้ได้จำนวน 58 คน แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสตูล กลับกล่าวว่า มีผู้คัดค้านเพียง 35 คน ซึ่งไม่ถูกต้อง

“ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นวันที่ 18 เมษายน 2562 เป็นเวทีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบวิธีการจัดรับฟังความคิดเห็น ขอให้ท่านมีคำสั่งให้การประชุมครั้งนี้เป็นโมฆะและเพิกถอนการจัดเวทีดังกล่าว

และไม่นำเอาการจัดเวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท ภูทองอันดา จำกัด ใดๆทั้งสิ้น พร้อมตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างแท้จริง”ในหนังสือระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน