เลือดบริจาค! “สธ.-สภากาชาดไทย “แจงตรวจแล็บทุกราย แต่ไม่มีอะไรปลอดภัย100%

วันที่ 10 พ.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีหนุ่มไปรักษาโรคลูคีเมียที่โรงพยาบาลชื่อดัง แต่ติดเชื้อเอชไอวีจากการรับโลหิต ซึ่งได้รับมาจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย เมื่อปี 2547 หรือ 15 ปีก่อน ว่า จริงๆแล้วการบริจาคโลหิตจะมีมาตรฐาน เช่น ต้องมีการคัดกรองผู้มาบริจาคโลหิตว่า ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี รวมถึงมีการตรวจเชื้อต่างๆของโลหิตที่บริจาคตามมาตรฐาน

แต่บางส่วนอาจจะมีจุดอ่อน ซึ่งเราจะบอกว่า โลหิตที่บริจาคมีความปลอดภัย 99.99% จึงอาจมีหนึ่งในแสน ที่อาจเจอช่วงระยะที่ตรวจหาเชื้อไม่พบ ทำให้อาจมีการผิดพลาดได้บ้าง แต่ สธ.พยายามดูอย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรฐานทุกวันนี้ก็ดีกว่ามาตรฐานในอดีต และคิดว่าปัญหาเหล่านี้คงจะลดลง อย่างการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เมื่อก่อนจะดูจากแอนติบอดี แต่ทุกวันนี้เราดูที่แอนติเจน จะทำให้ตรวจดูได้ปลอดภัยมากขึ้น

ด้าน น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีการสืบค้นตรวจพิสูจน์ และหารือกันแล้วอย่างละเอียด ซึ่งล่าสุด รพ.ก็ออกคำชี้แจงมาแล้วว่า จะให้การช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ผู้ป่วยที่รับบริจาคโลหิตแล้วตรวจพบภายหลังว่า มีการติดเชื้อสามารถเกิดได้แต่น้อยมากในช่วง10 ปีที่ผ่านมามีรายงานน้อยมาก แต่ในทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100% แต่ก็พยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกระบวนการรับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย จะมีการประชาสัมพันธ์ มีแบบสอบถามเพื่อคัดกรองความเสี่ยง สัมภาษณ์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโดยเจ้าหน้าที่ หากผ่านแล้วเข้าสู่กระบวนการบริจาคโลหิต ก็จะนำโลหิตที่ได้ไปตรวจ ซึ่งมี 2 วิธี คือ 1.ตรวจด้วยน้ำยาที่มีความไวสูงสุด เพื่อดูภูมิในร่างกายว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และ 2.ตรวจด้วยวิธี Nucleic acid amplification test (NAT) เป็นการตรวจดูสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ของเชื้อ

“ผลการตรวจจะบันทึกและส่งข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปยังจุดคัดโลหิตออก หากโลหิตติดเชื้อก็จะถูกคัดออก ส่วนโลหิตที่ดีจะมีการพิมพ์ฉลากผ่านระบบคอมพิวเตอร์เข้าระบบพร้อมจ่าย ดังนั้น อยากให้ประชาชนมั่นใจในระบบการรับบริจาคเลือด ส่วนที่บอกว่า ทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100% หมายความว่า ช่วงที่ติดเชื้อมาใหม่ๆ

เช่น มีเพศสัมพันธ์เมื่อวานแล้ววันนี้มาบริจาคเลือด เชื้อในตัวยังน้อย จึงตรวจหาไม่เจอ ซึ่งเราหากทราบความเสี่ยงเช่นนี้ ก็จะไม่รับการบริจาคเลือด แต่การตอบแบบสอบถามเป็นการขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับ ผู้บริจาคจึงต้องตอบตามความเป็นจริง หากตอบบ่ายเบี่ยง หรือใช้การบริจาคเลือดเพื่อต้องการตรวจว่า ตัวเองติดเชื้ออะไรหรือไม่ ตรงนี้เป็นความเสี่ยง” ผอ.ศูนย์บริการโลหิตฯ กล่าว

ขณะที่ผศ.พญ.จารุพร พรหมวงศ์ รอง ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า การตรวจโลหิตที่บริจาค ไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป มีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล ไม่ได้แปลว่า ไม่มีความเสี่ยงเลย เนื่องจากมีระยะวินโดว์พีเรียด (window period) คือ ระยะที่มีเชื้อในเลือด แต่ระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบ ซึ่งเป็นข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีที่ใดสามารถตรวจได้ เพราะเชื้อยังอยู่ในเนื้อเยื้อหรือปริมาณเลือดน้อยเกินไป จึงตรวจไม่พบ

ซึ่งแต่ละเชื้อจะมีระยะเวลาตรวจไม่พบไม่เท่ากัน เช่น เอชไอวี จะอยู่ที่ 5-7 วัน ไวรัสตับอักเสบบี 24-27 วัน และไวรัสตับอักเสบซี 3-5 วัน ทั้งนี้ ผู้บริจาคส่วนใหญ่ใจบุญอยากช่วยผู้ป่วย ก็ต้องปลอดภัยในระดับหนึ่งอยู่แล้ว จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดว่ามาบริจาคเลือด เพื่อหวังไปตรวจโลหิตด้วย ดังนั้น ต้องไปเน้นที่ผู้บริจาคโลหิต ที่ก่อนมาบริจาคโลหิตต้องไม่อยู่ในระยะที่แพร่เชื้อหรือตรวจเชื้อไม่พบ และมั่นใจว่า ตัวเองปลอดภัยไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ก็ควรเว้นการบริจาคโลหิตประมาณ 3 เดือน และผู้มาบริจาคโลหิตต้องพูดความจริงกับเจ้าหน้าที่ด้วย

อ่าน หนุ่มปล่อยโฮ แม่พารักษาอาการป่วย โรงพยาบาลดัง กลับได้รับเชื้อ HIV ชีวิตพลิก!

อ่าน รพ.ดังแจงแล้ว ปมรักษาหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นป่วยมะเร็ง แต่กลับได้รับ เชื้อ HIV แทน

อ่าน รักษาฟรีทุกโรคตลอดชีวิต! รพ.ดังเยียวยาหนุ่มคนไข้ติดเชื้อHIV จากการให้เลือด(คลิป)

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน