คร. พบเด็ก 10 ขวบ ตายจากพิษสุนัขบ้า รายที่ 2 ของปี เผยแค่ถูกหมาจรจัดข่วน!

วันที่ 28 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรมฯได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นเด็กหญิง อายุ 10 ปี 6 เดือน ที่ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ของปี 2562

โดยรายแรกอยู่ที่ จ.สุรินทร์ จากการสอบสวนโรคพบว่า เมื่อปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา มีประวัติเล่นกับสุนัขจรจัดและถูกข่วน แต่ไม่ได้ล้างแผลไม่ได้ฉีดวัคซีน หลังจากนั้น 2 เดือน มีอาการไข้ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย กลัวน้ำกลัวลม ถ่มน้ำลายตลอดเวลาและเสียชีวิตในที่สุด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากข้อมูลในช่วงปิดเทอมพบว่า สถิติการถูกสัตว์กัดข่วนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเด็กๆ ปิดเทอมอยู่บ้านมักเล่นกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้านหรือในชุมชน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วนแล้ว หลายรายกลัวจะถูกดุ จึงไม่ยอมบอกพ่อแม่ผู้ปกครองทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวตั้งแต่รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรือนานถึง 1 ปี และในหลายพื้นที่ก็ยังพบสุนัขบ้า

ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลบุตรหลานให้อยู่ห่างจากสุนัขและแมว สังเกตอาการและหมั่นสอบถามพูดคุยอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเคยถูกสัตว์กัดหรือข่วนแล้ว ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย

หากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่า มีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ถ้าตายควรส่งให้ปศุสัตว์ตรวจหาเชื้อด้วย และขอให้ยึดหลักคาถา 5 ย. เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า คือ 1.อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโห เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 2.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 3.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย และขอให้นำสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้บริการถึงสิ้น มิ.ย.นี้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

เมื่อถามว่า คนที่เคยรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้ว หากถูกกัดข่วนอีกต้องไปฉีดอีกหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขอแนะนำว่า ทุกครั้งที่ถูกสัตว์กัดข่วนเลียบาดแผล ให้รีบล้างแผลแล้วไปพบแพทย์ ไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเองว่า จะต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือต้องฉีดกี่เข็ม ซึ่งก็จะพิจารณาว่า สัตว์ที่กัดข่วนเลียมีความผิดปกติหรือไม่ ห่างจากการรับวัคซีนครั้งก่อนนานเท่าใด ถูกกัดมารุนแรงหรือไม่

ถามต่อว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วเมื่อถูกกัดอีกทำให้ประมาทไม่ไปพบแพทย์ นำมาสู่การเสียชีวิตได้หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะอย่างที่บอกว่า แพทย์จะคำนึงว่าเคยฉีดมาแล้วนานเท่าใด บาดแผลรุนแรงหรือไม่ ย้ำว่าขอให้ไปพบแพทย์ทุกครั้ง แจ้งประวัติการฉีดวัคซีนเดิม และประวัติการถูกกัดข่วนเลีย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเอง และขอให้รีบไปโดยเร็วที่สุด เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือไม่ไปพบแพทย์

แต่ก็มีที่ไปพบแพทย์แล้วเสียชีวิต เช่น มีบาดแผลรุนแรง เช่นถูกกัดบริเวณใบหน้า ซึ่งมีเส้นประสาทจำนวนมาก เพราะแม้จะรีบไปพบแพทย์ทันที แต่แผลที่เหวอะหวะมากทำให้เชื้อเข้าเส้นประสาทได้เร็ว แม้จะฉีดเซรุ่มและวัคซีนก็ไม่เพียงพอ ทำให้เสียชีวิต หรือแม้แต่แผลเล็กก็ควรรีบไป เพราะระยะฟักตัวของเชื้อมีตั้งแต่สั้นมากไปจนถึงเป็นปี ไม่ควรเอ้อระเหย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน