ดีเดย์เชื่อมใบสั่งต่อภาษี ไม่จ่ายค่าปรับยังต่อได้ใช้ใบแทน 30 วัน พ้นกำหนดโดนจับปรับอ่วม

วันที่ 29 พ.ค. ที่กรมขนส่งทางบก นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมแถลงความคืบหน้าการเชื่อมโยงระบบใบสั่งจราจร (PTM) กับระบบรับชำระภาษีประจำปี

นางจันทิรา กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงานตกลงร่วมกันที่จะเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นไป โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออนไลน์ข้อมูลการกระทำความผิดหรือใบสั่งค้างชำระของผู้ขับขี่แต่ละรายให้กรมขนส่งทางบก นำไปพิจารณาในการต่อภาษีประจำปี โดยหากผู้ขับขี่ค้างชำระค่าปรับจะยังสามารถมายื่นขอชำระและต่อภาษีประจำปีได้ตามปกติ แต่จะไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีหรือป้ายวงกลม โดยเจ้าหน้าที่จะออกหลักฐานแสดงการเสียภาษีประจำปีชั่วคราวให้ ซึ่งมีอายุใช้ได้ 30 วัน จากนั้นต้องไปชำระค่าปรับภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการอาจจะถูกจับกุมในข้อหาขับรถไม่แสดงเครื่องหมายป้ายวงกลม

“หลังจาก 30 วันไปแล้วยังไม่ไปชำระค่าปรับ หากถูกตำรวจเรียกขอดูป้ายวงกลมแล้วไม่มีแสดงจะถูกปรับไม่เกิน 2 พันบาท ส่วนกรณีค้างชำระค่าปรับมายื่นต่อภาษีประจำปี สามารถชำระค่าปรับพร้อมภาษีพร้อมกันได้เลย โดยกรมขนส่งทางบกจะบันทึกข้อมูลการชำระค่าปรับในระบบเชื่อมโยงกับระบบใบสั่งจราจร ทำให้มีผลเช่นเดียวกันการชำระค่าปรับกับพนักงานเจ้าหน้าที่และจะออกป้ายวงกลให้ตามปกติ”

ด้านพล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามคำสั่ง คสช.14/2560 ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยใบสั่งที่จะถูกเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบของกรมขนส่งทางบกนั้นจะไม่ได้บังคับเฉพาะใบสั่งตำรวจออกให้หลังจากวันที่ 1 ต.ค.นี้เท่านั้น แต่จะมีผลย้อนหลังตามอายุของใบสั่งด้วย ซึ่งตามปกติในสั่งมีอายุ 1 ปีตามกฎหมาย เชื่อว่าการเชื่อมโยงระบบจะเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนและเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

“นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ กรมขนส่งทางบก อยู่ระหว่างทำงานร่วมกันเพื่อออกกฎและระเบียบ บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 ฉบับใหม่แก้ไขปรัปปรุง ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้มีการนำมาตรการตัดแต้มขับขี่จากคะแนนความประพฤติ ,มาตรการเพิ่มโทษ, มาตรการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นใบขับขี่ขับขี่อัจฉริยะ ที่โหลดจากแอพพลิเคชั่นของกรมการขนส่งทางบก หรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งในอนาคตตามกฎหมายให้ใช้แทนใบขับขี่ตัวจริงได้ มาตรการต่างๆตามกฎหมายใหม่นั้น คาดว่าจะนำมาบังคับใช้ได้ตามกฎหมายได้ไม่เกิน 19 ธ.ค.2562 นี้ โดยระหว่างนี้ได้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมา พิจารณากำหนดรายละเอียดเพื่อออกเป็นประกาศและระเบียบบังคับใช้ต่อไป”

นางจันทิรา กล่าวต่อว่า ในอนาคตจะมีใบขับขี่ที่บังคับใช้ตามกฎหมายได้ 3 ประเภท คือ ใบขับขี่ปัจจุบันที่เป็นแบบพลาสติก ใบขับขี่อัจฉริยะ และสำเนาภาพถ่ายใบขับขี่ แต่มีเพียง 2 ชนิดแรกเท่านั้น ที่ผู้ขับขี่จะสามารถนำมาใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการขับขี่รถบนท้องถนน ส่วนใบขับขี่ชนิดที่ 3 คือ จะใช้เป็น สำเนาภาพถ่ายใบขับขี่ จะใช้เป็นกรณีเฉพาะการนำไปใช้เป็นข้อมูลในชั้นศาลเท่านั้น เช่น หากศาลขอเรียกข้อมูลใบขับขี่ของผู้ขับขี่ กรมขนส่งทาบกก็สามารถสำเนาภาพถ่ายในขับขี่พร้อมลงนามรับรองความถูกต้องส่งให้ศาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน