คนกรุงโดนอีก กทม.รีด ค่าบำบัดน้ำเสีย นำร่อง 21 เขต คาดรายจ่ายเพิ่ม บ้านละ 50 บาท เริ่มต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่อาคารไอราวัตพัฒนาศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร กทม.สมาชิกสภา กทม. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายคำรณ โกมลศุภกิจ สมาชิกสภากทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดนำเสีย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ว่า คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียพ.ศ. 2547 ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียพ.ศ.2547 เป็นอัตราที่คิดตามปริมาณน้ำประปาหรือน้ำบาดาล หรือน้ำจากแหล่งอื่นที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสียร้อยละ 100 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม สมควรกำหนดค่าธรรมเนียมร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำใช้ของแหล่งกำเนิดน้ำเสียนั้นๆ และแบ่งประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีหน้าที่ต้องชำระค่าทำเนียมให้ชัดเจน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อนและเนื่องจากมาตรา 97 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 บัญญัติว่า การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ ต้องตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแบ่งประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. บ้าน อาคารประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์หอพัก รวมทั้งอาคารที่อยู่อาศัยรวม อัตราค่าธรรมเนียม 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

2. หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิ ศาสนา สถานสาธารณกุศล โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล โรงเรียนหรือสถานศึกษา สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ อัตราค่าธรรมเนียม 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

และ 3. โรงแรม โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง1ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเกินกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึง1ปีให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกต 3 ข้อ ดังนี้ 1.ควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 ให้กทม. มีอำนาจมอบให้หน่วยงานของรัฐอื่นหรือรัฐวิสาหกิจสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทน กทม.ได้

2.ในกรณีเอกชนจะขอเชื่อมต่อท่อรับน้ำเสีย ท่อเชื่อมน้ำเสียและท่อรวบรวมน้ำเสีย เข้ากับระบบบำบัดน้ำเสียของกทม.ควรให้เอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

และ3.ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียพ.ศ. 2547 ใช้บังคับมาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว และข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีการนำไปใช้ตามหลักการและวัตถุประสงค์ของข้อบัญญัติดังกล่าว สมควรปรับปรุงใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดพิมพ์ตามลำดับข้อก่อนนำเสนอ รมว.มหาดไทยเพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอผู้ว่าฯกทม.ลงนามต่อไป โดยให้ผู้ว่าฯกทม.ออกระเบียบกรุงเทพมหานครและประกาศกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คาดว่ากทม.จะสามารถเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียภายในเดือนต.ค. นี้ หรือภายในปีงบประมาณ2563 โดยจะนำร่องจัดเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสีย ครอบคลุม 21 เขต ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา

ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง และราษฎร์บูรณะ

ทั้งนี้จากการคำนวนโดยเฉลี่ยคาดว่า ในส่วนของบ้านเรือนทั่วไปที่จะคิดคำนวณตามปริมาณน้ำที่ใช้แต่ละบ้าน แล้วจะเสียค่าบำบัดน้ำเสียประมาณ 50 บาทต่อเดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน