กรมการค้าภายในจ่อเชิญ 70 รพ. ถกคิด ราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล หลังพบบางรพ.คิดสูงกว่าราคาเฉลี่ยพุ่ง 16,000% หลังประกาศกกร.มีผลบังคับใช้

ราคายา / เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงความคืบหน้าหลัง ประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ลงนามในประกาศ กกร. ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่า ประกาศดังกล่าวมีความต้องการให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้รับความเป็นธรรม

ที่ผ่านมากรมจึงหาข้อมูลยา เวชภัณฑ์จากหลากหลายแหล่งข้อมูลเช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภาคเอกชนเช่นโรงพยาบาล ผู้นำเข้ายา ผู้ผลิตยา เวชภัณฑ์ที่สำคัญๆ หลังจากได้ข้อมูลมาก็นำมาศึกษาทิศทางราคา ประเมินต้นทุนต่างๆ ก็พบว่ามี 353 โรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลมาทั้งราคาซื้อและขาย ก็พบว่ามี 30% ของโรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลคิดราคาต่ำกว่าที่เฉลี่ยทั่วไป อีก 40% คิดราคาในระดับกลางๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ป่วยในระดับหนึ่ง

นายวิชัย กล่าวต่อว่า ที่เหลืออีกประมาณ 30% หรือประมาณ 70 แห่ง ที่ต้องเชิญมาหารือคือกลุ่มที่ตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาเฉลี่ยไว้ค่อนข้างมากเฉลี่ยสูงถึง 300% บางรายสูงถึง 8,000% และที่น่าตกใจคือบางรายสูงถึง 16,000%

ซึ่งน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช. พาณิชย์ ในฐานะประธานกกร. ก็ได้ออกประกาศให้สินค้าประเภทยา เวชภัณฑ์และการบริการมาเป็นสินค้าควบคุมแล้ว กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลแจ้งข้อมูลราคายา เวชภัณฑ์และบริการมายังกรมให้แล้วเสร็จก่อน 12 ก.ค.นี้ จากนั้นกรมก็จะนำข้อมูลขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรม เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบก่อนใช้บริการได้ และจะนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำคิวอาร์โคทเพื่อให้ประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โคทนำข้อมูลไปตรวจสอบ เปรียบเทียบราคากันได้

โดยหลังจากที่โรงพยาบาลแจ้งราคาไปแล้วหากจะเปลี่ยนแปลงราคาต้องแจ้งล่วงหน้า 15 วัน เพื่อจะได้อัพเดทข้อมูลทั้งในเว็บไซต์และคิวอาร์โคท อย่างไรก็ตามหาก ไม่แจ้งตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะแจ้ง

นายวิชัย กล่าวย้ำอีกว่า สิ่งที่โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำคือการที่ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือก หลังจากผู้ป่วยพบแพทย์ ประเมินอาการแล้วต้องแจ้งว่าค่ารักษาพยาบาลจะอยู่ที่เท่าไหร่ กำหนดให้แจ้งในใบสั่งยาต้องมีชื่อยาทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้าสรรพคุณ วิธีการใช้ ราคาต่อหน่วย และต้องให้ใบสั่งยาก่อนที่ผู้ป่วยจะไปรับยา โดยต้องเปิดทางให้ผู้ป่วยเลือกว่าจะซื้อ หรือรับยาดังกล่าวจากโรงพยาบาลหรือจะนำไปสั่งยานี้ไปซื้อยาจากร้านขายยาอื่น ๆ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมทั้งการรักษาต้องพอดีหรือสมเหตุสมผลเพราะที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนมาอย่างมากว่าได้รับการดูแลรักษาแบบเกินพอดี (Over Treatment) เช่น แค่มีอาการท้องเสียแต่ได้เอ็กซเรย์ ตรวจเอ็มอาร์ไอ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นไปมาก กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลโดยเฉพาะ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

หากพบว่าโรงพยาบาลมีพฤติกรรม Over Treatment เรื่องจะถูกส่งมายัง กกร. ก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมายต่อไป เบื้องต้นหากผู้บริโภคเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง ร้องเรียนเข้ามา และพบว่าผิดจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เราอยากเห็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการเพราะบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก เป็นเรื่องของความอยู่รอดของชีวิต อยากให้ทางโรงพยาบาลปรับแนวคิดในการดำเนินการให้ความเป็นธรรมและโปร่งใส” นายวิชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน